องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา187 ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนาย ดอน ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่นาง นรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยาผู้ถูกร้องถือครองหุ้นสัมปทานเกิดร้อยละ 5 ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดห้ามรัฐมนตรี, คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถือครองหุ้นดังกล่าวเกินร้อยละ 5
โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิเคราะห์คดีดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ รัฐธรรมนูญมาตรา264 ประกอบกับมาตรา187 สามารถนำมาบังคับใช้กับผู้ถูกร้องได้หรือไม่ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิเคราะห์แล้วว่า สามารถนำมาบังคับใช้กับผู้ถูกร้องได้ โดยให้ยึดถือว่าผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และผู้ถูกร้องที่เป็นรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้ต้องไม่เป็นหรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าร้อยละ 5 เพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน อันเนื่องมาจากผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
ประเด็นที่สองที่ต้องวินิจฉัยต่อคือ ภรรยาผู้ถูกร้องที่ถือครองหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัทปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด เกินกว่าร้อยละ 5 ในขณะนั้นได้โอนหุ้นบริษัทให้บุคคลอื่นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิเคราะห์ว่า ในวันที่ 10 เมษายน 2560 หรือหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 4 วัน ภรรยาผู้ถูกร้องได้แจ้งความประสงค์โอนหุ้นจำนวน 4,800 หุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ และอีก 2,700 หุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด ให้นาย เพื่อน ปรมัตถ์วินัย ที่เป็นบุตรผู้ถูกร้อง และต่อมาบริษัททั้งสองได้อนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าว ส่งผลให้ภรรยาผู้ถูกร้องมีหุ้นเหลือในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัดที่ 2,400 หุ้น และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัดที่ 800 หุ้น ซึ่งเท่ากับถือหุ้นเหลือร้อยละ 4 ไม่เกินจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งได้ดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ พร้อมได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แล้ว จึงพิเคราะห์ว่าคู่สมรสของผู้ถูกร้องได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้นองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จึงมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไปได้ตามปกติ
ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร ผู้สื่อข่าว /แฟ้มภาพ