ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างรายงานล่าสุดชื่อว่าเดอะ ลิฟวิ่ง แพลนเนต 2018 จัดทำโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF) องค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ บ่งชี้ว่า ในปัจจุบัน ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงร้อยละ 60 จากเดิมเมื่อ 40 ปีก่อน ระบุว่าปัญหามลพิษทางอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาอื่นๆที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติด้วยน้ำมือของมนุษย์ คือสาเหตุสำคัญของปัญหาวิกฤติต่อธรรมชาติและสัตว์ป่าทั่วโลกในปัจจุบัน
รายงานระบุว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม นก ปลา สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวมกว่า 4,000 ชนิดสูญพันธุ์จากโลกอย่างรวดเร็วระหว่างปี 2513-2557 ตั้งข้อสังเกตว่าในปัจจุบัน อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,000 เท่า เมื่อเทียบกับในยุคก่อนที่มนุษย์จะเข้าไปจัดระเบียบควบคุมระบบนิเวศวิทยาให้กับสัตว์ป่า รายงานนี้ยกตัวอย่างปัญหาเช่น ช้างแอฟริกาในแทนซาเนียในทวีปแอฟริกาลดลงร้อยละ 60 ระหว่างปี 2552-2557 เนื่องจากการลักลอบตัดงาช้าง
ขณะเดียวกันปัญหาการตัดไม้แผ้วถางป่าเพื่อปลูกไม้สักและปลูกปาล์มน้ำมันบนเกาะบอร์เนียว มาเลเซีย ส่งผลให้ลิงอุรังอุตัง สูญพันธุ์ราว 1 แสนตัวระหว่างปี 2542-2557 WWF จึงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้ง 196 ประเทศ จัดทำร่างสนธิสัญญาระหว่างประเทศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำลายธรรมชาติของมนุษย์ เตือนว่าความพยายามของทุกฝ่ายเพื่อร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าของโลกที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่อาจจะเทียบเท่ากับอัตราความเร็วและความแรงในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์