ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย

26 ตุลาคม 2561, 15:59น.


กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัด “งานประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัยครั้งที่ 13 The 13th World Conference on injury Prevention and Safety Promotion (Safety 2018) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศที่สองของภูมิภาคเอเชียที่ได้รับเกียรติครั้งนี้



นายแพทย์ธวัช  สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำทรวงสาธารณสุข ประธานแถลงข่าว พร้อมด้วยนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทันตแพทย์ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายแพทย์สัญชัย ชาสมบัติ รองเลาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และนายแพทย์วิฑูรย์ อนุนกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ร่วมแถลงข่าว ถึงทิศทางนโยบายระดับโลก ที่มีเป้าหมายร่วมกันจนเป็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals : SDGs ขององค์การอนามัยโลก คือ การทำให้ประชาชนในทุกประเทศ อยู่อย่างมีความสุข มีความเข้มแข็ง มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตราย ทั้งในระดับปัจเจก ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับสังคม ระดับประเทศ และระดับประชาคมโลก



สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงานประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บ และส่งเสริมความปลอดภัยครั้งที่ 13 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา พร้อมเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการ ผลการดำเนินงานของผู้เชี่ยวชาญที่มาจัดแสดง และเตรียมการบรรยายจากทั่วโลก จำนวนกว่า 800เรื่อง ในประเด็นใหญ่ๆ 13เรื่อง คือ 1) ความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ถนนที่เปราะบาง เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ จักรยาน คนเดินเท้า เป็นต้น (Road safety focus on vulnerable road users) 2) ความรุนแรงในเด็กและสตรี (Violence) 3) การบาดเจ็บในเด็กและความปลอดภัยในชุมชน (Child safety and injury) 4) การป้องกันการจมน้ำ (Drowning) 5) การสนับสนุนเชิงนโยบาย (Evidence/Policy) 6) ชุมชนปลอดภัย (Community Safety) 7) ความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ (Occupational Safety) 8) การป้องกันการล้ม (Fall) 9) ความปลอดภัยจากการกีฬา (Sport Safety) 10) การบาดเจ็บจากการไหม้ (Burn) 11) การป้องกันอื่นๆ (Other Prevention) 12) การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Services : EMS) 13) การฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation)



สำหรับการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บ และส่งเสริมความปลอดภัยครั้งที่ 13 ในครั้งนื้ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ในการแก้ปัญหา การทำงานเชิงป้องกันที่จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล โดยจะนำผลจากการประชุม และจัดนำเสนอต่อประชาคมโลก ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยมากำหนด เป็นนโยบายบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อความผาสุขของคนไทยและตอบสนองตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมการประชุมได้ทาง www.worldsafety2018.org

ข่าวทั้งหมด

X