ก่อนการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 4/2561 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่าวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมชลประทาน กรมฝนหลวง กรมประมง เพื่อเตรียมหารือและติดตามสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นภาคใต้ที่ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็เตรียมรับมือการเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยขณะนี้มี 6 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ เขื่อนแม่กวง เขื่อนแม่มอก เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน ทั้งการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ระบบนิเวศ การทำเกษตรต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำนาปรังที่เคยปลูกในฤดูแล้งปี 2560/2561 พื้นที่ประมาณ 4 แสน – 6 แสนไร่ ซึ่งพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา และ เขื่อนกระเสียว ขณะที่ น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่ง GISTDA ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 35 จังหวัด 215 อำเภอ 653 ตำบล ทำให้ตัวเลขการคาดการณ์ ปี 2561/2562 พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2.49 ล้านไร่ ใน 23 จังหวัด 76 อำเภอ 172 ตำบล ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ตาก นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า จากการดำเนินการของรัฐบาล ทำให้ใช้งบประมาณเยียวยาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง เพียง 18,594 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาที่ให้งบประมาณเยียวยากว่า 80,000 ล้าบาท ทั้งนี้เนื่องจากมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่ดีของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี