การเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยไม่ถึง ร้อยละ 50 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เปิดปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการคาดการณ์ ในวันที่ 1 พ.ย.2561 จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน จำนวน 7 แห่ง ปริมาณน้ำน้อยไม่ถึงร้อยละ 50 ส่งผลต่อการทำการเกษตรในพื้นที่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมแผนและดำเนินการเติมน้ำ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ กำหนดแผนเติมน้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ดำเนินการไปแล้ว 8 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง กำหนดเติมน้ำ 10 ล้านลบ.ม. ดำเนินการไปแล้ว 5 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี กำหนดเติมน้ำ 5 ล้านลบ.ม. แต่ปัจจุบันเติมไปแล้ว 16 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี กำหนดแผนเติมน้ำ 20 ล้านลบ.ม. ดำเนินการไปแล้ว 21 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี กำหนดแผนเติมน้ำ 5 ล้านลบ.ม. ดำเนินการไปแล้ว 100,000 ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำหนดแผนเติมน้ำ 40 ล้านลบ.ม. ดำเนินการไปแล้ว 27 ล้านลบ.ม.
นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ประมาณ 170 แห่ง ที่กรมชลประทาน ประสานความร่วมมือ เนื่องจากมีปริมาณน้ำ ร้อยละ 30-60 ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการเติมน้ำ ไปได้แล้วทั้งสิ้น 31 ล้าน ลบ.ม. และจากการประเมินสภาพอากาศ ติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประสานข้อมูลจากแหล่งอื่น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จนถึงกลางเดือน พ.ย.
อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยถึง ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและผลฝนทิ้งช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2561 ดำเนินการไปแล้วจำนวน 4,299 เที่ยวบิน ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3,621.83 ตัน มีฝนตกรวม 58 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือ 135.57 ล้านไร่ จากทั้งหมดที่ขอรับบริการ 181.05 ล้านไร่ และปัจจุบันยังมีเกษตรกร ขอรับบริการฝนหลวงเพื่อใช้ทำการเกษตรอีก 22 ราย จำนวน 8.30 ล้านไร่ เนื่องจาก ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง น้ำไม่เพียงพอสำหรับพืชบางชนิด เช่น ข้าวข้าวโพด มันสำปะหลัง
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม