การคาดการณ์สถานการณ์น้ำหลังวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 และการเตรียมความพร้อมจัดสรรน้ำ เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2562
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ปริมาณน้ำจากแหล่งเก็บน้ำทุกประเภทที่มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 39,373 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) จะเพียงพอใช้จนถึงฤดูแล้ง โดยกรมชลประทานจัดสรรการใช้น้ำออกเป็น 2 ส่วน คือ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 - 30 เมษายน 2562 จำนวน 23,100 ล้าน ลบ.ม. แบ่งใช้เพื่ออุปโภค บริโภค ร้อยละ 10 เพื่อระบบนิเวศ ร้อยละ 28 เพื่อการอุตสาหกรรม ร้อยละ 1 การเกษตรต่อเนื่อง ร้อยละ 4 เตรียมไว้ให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำสำหรับปลูกข้าวนาปี ร้อยละ 1 และเพื่อการเกษตรในพืชฤดูแล้ง ร้อยละ 65 อีกส่วนจัดสรรไว้ระหว่าง 1 พฤษภาคม - กรกฎาคม 2562 ปริมาณ 16,273 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองเพื่ออุปโภค บริโภค ระบบนิเวศการเกษตรต่อเนื่องอุตสาหกรรม เนื่องจากมีสัญญาณที่บ่งบอกว่าปลายปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงต้องสำรองน้ำและใช้น้ำอย่างระมัดระวัง ในกรณีฝนมาช้า ฝนทิ้งช่วง หรือฝนไม่ตกตามฤดูกาล
อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 จำนวน 7 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำทับเสลา (สะเหลา) จ.อุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยใน 7 แห่งนี้ มี 2 แห่ง ที่กรมชลประทานไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่ำกว่าร้อยละ 50 คือ อ่างเก็บน้ำแม่มอก ปริมาณน้ำอยู่ที่ร้อยละ 33 และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำอยู่ที่ร้อยละ 34 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีมาตรการเสริมโดยจ้างแรงงาน เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน ช่วงฤดูแล้ง
ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน พบมีจุดเสี่ยง 16 จังหวัด จำนวน 75 จุด ที่จะเกิดปัญหาการระบายน้ำ โดยกรมชลประทานจะใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมเตรียมเครื่องมือ 4 จุดใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นครศรีธรรมราช สงขลานราธิวาส และในสาขาย่อยอีก 13 แห่ง รวมเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักรในพื้นที่ภาคใต้ 1,106 ชิ้น เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ กรณีเกิดพายุด้วย
ขณะที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ 12,420 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอจะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ รวมถึงจะไม่ประสบกับปัญหาการเพาะปลูกทำการเกษตร อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องของปัญหาน้ำเค็ม
...
ผสข.เกตกนก ครองคุ้ม