อย.ชี้แจงการผลิตน้ำปลาไทย มีความปลอดภัย ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจ

24 ตุลาคม 2561, 18:42น.


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้แจงการคุมเข้มกระบวนการผลิตน้ำปลาในประเทศไทย ว่ามีความปลอดภัยตามมาตรฐานจีเอ็มพี ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจในคุณภาพน้ำปลาไทย



นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากที่มีกระแสข่าวเรื่องสหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้าน้ำปลาไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่า ได้มีการกำกับดูแลการผลิตน้ำปลาที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งก่อนจำหน่ายและหลังจำหน่าย สู่ท้องตลาดอย่างเข้มงวด โดยสถานที่ผลิต ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดีตามมาตรฐาน GMP ที่จะมีการควบคุมกระบวนการผลิต ตั้งแต่รับวัตถุดิบ การควบคุมกระบวนการผลิต การบรรจุ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำปลาที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องมีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงว่าด้วยเรื่อง น้ำปลา โดยต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเมื่อปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข โดย อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม และสารพิษโบทูลินัม ในตัวอย่างน้ำปลา 48 ตัวอย่าง ซึ่ง1ใน48ตัวอย่างนี้ มียี่ห้อที่ถูกสหรัฐฯยังห้ามนำเข้า เพื่อรอตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมรวมอยู่ด้วย โดยผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบทั้งสารพิษโบทูลินัม และเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียมในน้ำปลาทุกตัวอย่าง



นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่มีข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S. FDA) ออกประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาจากประเทศไทย อย. ขอชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่า  กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเตรียมหลักฐานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ประเด็นการตรวจพบความไม่ปลอดภัยของน้ำปลาจากประเทศไทย ซึ่ง อย. จะเชิญผู้ประกอบการมาหารือและชี้แจงในประเด็นดังกล่าวพร้อมทั้งเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตน้ำปลาและจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจกับ U.S. FDA เรื่องความปลอดภัยในกระบวนการผลิตน้ำปลาของประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ทาง อย. จะทบทวนมาตรฐานน้ำปลาทั้งในเรื่องมาตรฐานจุลินทรีย์ สารปนเปื้อนบางชนิด และมาตรฐานอื่นๆ ผ่านคณะทำงานวิชาการ เพื่อให้ปรับปรุงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยินดีร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้น้ำปลาไทยสามารถส่งออกและแข่งขันในตลาดต่างประเทศต่อไปได้ โดยย้ำว่าในน้ำปลาไทยไม่มีสารก่อมะเร็ง และมีการตรวจที่ได้มาตรฐานก่อนส่งออกไปยังประเทศต่างๆ



นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กรณีนี้เป็นการขอหลักฐานเพิ่มเติมจากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งได้มีการนำส่งเอกสารตั้งแต่เดือนสิงหาคม และจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบประมาณ 2-3เดือน คาดว่า จะได้ผลสรุปภายในเดือนหน้า หากผลสรุปเป็นไปในทิศทางที่ดี การส่งออกน้ำปลาก็จะราบรื่นเช่นเดิม การที่ U.S. FDA จะเรียกขอเอกสารเพิ่มเติมเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้หากสงสัยในส่วนไหน และเป็นเรื่องปกติ ขณะนี้ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ รายได้จากการส่งออกน้ำปลาต่อปีมูลค่า 50 - 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในปีนี้เพียง 9 เดือน ส่งออกอยู่ที่ 44ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตเรื่อยๆ





นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเข้าส่งออก จะต้องถูกตรวจสอบตั้งแต่ประเทศที่ส่งออก และประเทศนำเข้า ที่ต้องมีการลงทะเบียนวิธีการ กระบวนการผลิต ส่วนกรณีนี้เป็นการตรวจสอบย้อนกลับ ที่มีการขอเอกสารเพิ่มเติมในขั้นตอนการผลิต ซึ่งกฎใหม่ของการนำเข้าน้ำปลาไปยังสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นไปในรูปแบบต้ม จากปกติภูมิปัญญาไทยจะผลิตน้ำปลาด้วยการหมัก ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวด้วยการแยกผลิตส่วนหนึ่งด้วยการต้ม เพื่อส่งออกสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ ซึ่งรสชาติ กลิ่น และสี จะไม่เหมือนการหมัก แต่จะทำให้เหมือนเดิมที่สุด





 



ผู้สื่อข่าว:วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์



 

ข่าวทั้งหมด

X