การประชุมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย ตามแผนงานความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และองค์การอนามัยโลก ผ่านเวที Big talk ครั้งที่3 นโยบายพรรคการเมืองบนทาง 3แพร่ง ลดความสูญเสียทางถนนด้านเศรษฐกิจ สังคม และนโยบาย นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก ด้านวิกฤติบำบัดและอุบัติเหตุ เปิดเผยถึง สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนกว่า 2หมื่นคน บาดเจ็บกว่า 1ล้านคน และมีผู้พิการอีกกว่า 4 แสนคน ซึ่งตั้งคำถามว่ามีใครไม่รู้บ้างว่า หากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใส่หมวกนิรภัยทุกคน การเสียชีวิตบนท้องถนนจะลดลงปีละ 5,000คน หากคนไทยขับรถช้าลง จะลดการสูญเสียได้อีก 5,000คน และหากคนไทยเมาไม่ขับรถ จะลดการเสียชีวิตบนถนนได้อีกกว่า 5,000คน แต่ทำไมเราถึงยังทำไม่ได้ซักที คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนล้วนมาจากสาเหตุที่ป้องกันได้
Dr. Liviu Vedrasco เจ้าหน้าที่โครงการขององค์การอนามัยโลกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่า สถาบันดูแลปัญหาอุบัติเหตุในประเทศไทยจะมีโครงสร้างและกลไกอยู่แล้ว แต่ยังทำงานได้ไม่ดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องประเมินและยกระดับขึ้นมา ซึ่ง WHO จึงเสนอแนะให้ปรับปรุงกลไกจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่อยู่ใต้อำนาจนายกรัฐมนตรี หรือในระดับกระทรวง ไม่ใช่หน่วยงานย่อยแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนด้านกฎหมายดูจะล้าสมัยเพราะร่างมากว่า 40 ปีแล้ว ควรมีการทบทวนกฎหมายในทุกมิติที่สำคัญ เช่น ความเร็ว หมวกนิรภัย เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ปริมาณแอลกอฮอล์ นอกจากการมีกฎหมายที่ดี การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทย ยังบังคับใช้ ไม่มากเท่าที่ควร อย่างเช่น รถจักรยานยนต์ และคนเดินเท้า ที่ล้วนไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นในประเทศไทย เพราะคนไม่มองว่า คนเดินเท้าเป็นกลุ่มแรกที่ให้ความสำคัญมากที่สุด ไม่เช่นนั้นถนนจะเป็นแดนประหารของคนใช้ถนนแบบเดินเท้า “ความรู้เรามีแล้ว การจัดการมีแล้ว ต้องสร้างความตระหนักและสร้างนโยบายนี้อย่างจริงจัง” Dr. Liviu กล่าวทิ้งท้าย
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึง ความเสียหายทางเศรษฐกิจของอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น การลดความเร็ว จะทำให้ไปถึงที่หมายช้าลง แต่จะแลกมาด้วยความปลอดภัยของชีวิต สำหรับต้นทุนของอุบัติเหตุทางถนน มีทั้งต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อ ที่ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล การสูญเสียผลิตภาพ และการสูญเสียคุณภาพชีวิต นอกเหนือจากนี้ยังมีความเสียหายต่อทรัพย์สิน และต้นทุนการจัดการอุบัติเหตุ ซึ่งGDP อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปี2559 เติบโตร้อยละ3.2 ปี 2560 เติบโตร้อยละ 3.9 และปี2561 เติบโต ร้อยละ 4.0 ถ้าหากลดอุบัติเหตุได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของความสูญเสียในปัจจุบัน จะทำให้ค่า GDP การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 5-6 ณ ปัจจุบันยังถือว่าเป็นความสูญเสียอย่างมากทั้งภาครัฐ และประชาชน
นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวถึง ความสูญเสียในภาคประกันภัย ว่าจะดีกว่าไหมถ้าประกันไม่ให้เกิดภัย ภัยอันดับแรกเกิดจากภัยธรรมชาติ ส่วนอันดับสองเกิดจากฝีมือมนุษย์ และอันดับสามเกิดจากภัยเศรษฐกิจ ถ้าหากอุบัติเหตุลดลง จะทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนจะลดลง รายจ่ายของภาครัฐก็จะลดลงเช่นกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ และระบบการรักษาพยาบาล ซึ่ง ร้อยละ38 ที่เสียชีวิตคือหัวหน้าครอบครัว ทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบตามมาทันที โดยหวังว่าในเชิงนโยบายจากการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ อยากเสนอแนะให้ข้าราชการตระหนักว่า เราไม่ได้มีหน้าที่ทำงานเพื่อตำแหน่ง ความก้าวหน้า หรือผลตอบแทนเท่านั้น แต่ต้องตระหนักว่าเราทำงานเพื่อประชาชน และคืนคุณแก่แผ่นดิน
วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผู้สื่อข่าว