ศ.ความเป็นเลิศ แพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เร่งต่อยอดยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง หลังคิดค้นสำเร็จเมื่อเดือนก.ย.

19 ตุลาคม 2561, 12:59น.


การต่อยอดวิจัยพัฒนายาต้านมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันมนุษย์เพื่อคนไทย  ศ.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ภูมิคุ้มของร่างกายถือว่ามีประโยชน์มาก ในผู้ป่วยมะเร็ง เซลล์มะเร็งมีโอกาสกลายพันธุ์เมื่อใช้ยาได้ระยะหนึ่ง เห็นได้จากการที่ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อตัวยา แต่สำหรับยาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็งประเทศไทยได้คิดค้นโดยสำเร็จเมื่อเดือน ก.ย.2561 ต่อยอดจากต้นแบบของ ศ.นพ.ทาสุกุ ฮอนโก แห่ง มหาวิทยาลัยเกียวโต ผู้ค้นพบโมเลกุลยับยั้งการกำจัดมะเร็งบนภูมิคุ้มกันมนุษย์ และได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2018



โดยยาตัวดังกล่าว จะเป็นแอนติบอดี้ที่มีประสิทธิภาพยับยั้งการทำงานของโมเลกุลเม็ดเลือดขาว ไม่ให้จับคู่กับโมเลกุลเซลล์มะเร็ง ซึ่งเหมือนการ ปลดล๊อคโดยใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของตัวเอง ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงบ้างในผู้ป่วยบางคน แต่จะพบเพียงร้อยละ 5 ที่เกิดผลข้างเคียงจนต้องหยุดใช้ยา และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็จะน้อยกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัด



ในการใช้ยาดังกล่าวจำเป็นต้องตรวจ ให้ทราบการตอบสนองต่อร่างกาย หรือหากร่างกายตอบสนองไม่ดี อาจรักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ ที่มีอยู่ใน 13 โครงการที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งกำลังคิดค้นอยู่ด้วย



ส่วนการรักษายาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็ง ไม่ได้กำหนดการรักษาไปที่มะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่ง ในมะเร็งบางชนิดอาจใช้กับผู้ป่วยระยะแรก เช่น มะเร็งปอด หรือใช้หลังการให้เคมีบำบัด หากใช้เคมีบำบัดไม่ได้ผล หรือใช้ในระยะสุดท้ายเพื่อรักษาด้วยวิธีอื่นก่อน  โดยการรักษาที่ดีที่สุดยังคงเป็นการผ่าตัด หากผ่าตัวมะเร็งออกจากร่างกายจนหมด และยาตัวนี้จะเป็นเพียงตัวเข้ามาช่วยเสริมการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น



ด้านความคืบหน้าปัจจุบัน ขั้นแรกได้ทดลองในห้องปฏิบัติการใช้ระยะเวลา1ปี จนได้ต้นแบบแอนติบอดี้สำเร็จ ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ขั้นตอนขณะนี้คือการพัฒนาแอนติบอดี้นี้ ให้ตัวยาแตกต่างจากบริษัทยา ในสหรัฐอเมริกา แต่มุ่งไปที่โมเลกุลเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีใกล้เคียง ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท หากสำเร็จจะเข้าสู่กระบวนการทดลองกับสัตว์ เช่น หนู ลิง หากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งได้ อย่างน้อย 4 ปีด้วย หลังจากนั้น จึงติดตามผล ก่อนขึ้นทะเบียนตัวยา





นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะเสียค่ายาเกือบครึ่ง เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งรวมถึงประเทศไทยที่ปัจจุบัน เสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ปีละประมาณ 150,000 ล้านบาท หากมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา อาจเป็นทางรอดในอีก 30 ปี ข้างหน้าของไทย



ทั้งนี้ สามารถร่วมสมทบทุนงานวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยบริจาคเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่บัญชี 408-004443-4 ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาสภากาชาดไทย โดยใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษี ได้สองเท่า ผู้บริจาคสามารถขอออกใบเสร็จโดยแจ้งชื่อนามสกุลที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์มาทาง Line @res2573i หรือ Facebook CUCancerIEC



ผู้สื่อข่าว : เกตกนก ครองคุ้ม

ข่าวทั้งหมด

X