หลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นัดแรก นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 12 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย, กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยในที่ประชุมได้มีการชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนกระบวนการการเลือกส.ว.ครั้งนี้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง รวมถึงสิ่งที่กกต.ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนและรับทราบภารกิจที่จะมาช่วยในการเตรียมการเลือกส.ว. ในครั้งนี้ ทั้งยังมีการพูดถึงเรื่องงบประมาณ และการเตรียมการหากเกิดเหตุความไม่สงบ, การประชาสัมพันธ์, การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ว. และการเตรียมการเรื่องการขนส่งอุปกรณ์ในการเลือก ส.ว.
ส่วนการเปิดรับลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิเสนอบุคคลให้เข้ารับการเลือกเป็น ส.ว. ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวาน และจะหมดเขตในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ซึ่งเมื่อวานที่เป็นวันแรก มีองค์กรที่ลงทะเบียนแล้วทั่วประเทศทั้งสิ้น 5 องค์กร ทั้งนี้การที่องค์กรมาลงทะเบียนน้อยนั้น คงไม่เกี่ยวกับปัญหาการประชาสัมพันธ์ แต่อาจเป็นเพราะองค์กรต่างๆ ยังเตรียมความพร้อมอยู่ จากนี้กกต. จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้องค์กรมาลงทะเบียนมากขึ้น โดยขณะนี้ยังไม่พบปัญหาใดๆ ในกระบวนการเลือก ส.ว. ขณะที่การเตรียมความพร้อมทางการข่าว เพื่อรับมือหากเกิดเหตุความวุ่นวาย ทางกกต. ได้ดำเนินการต่อเนื่อง และจะมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นผู้ดูแลในเรื่องความสงบเรียบร้อยและการจารจร หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พอ อาจจะขอความช่วยเหลือจากทหาร หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานท้องถิ่นด้วย มั่นใจว่าในวันเลือก ส.ว. จะมีแผนป้องกันอย่างรัดกุมแน่นอน

ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. ระบุว่า หากองค์กรใดมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ ก็สามารถส่งบุคคลเข้ารับการเลือกเป็น ส.ว.จังหวัดนั้นๆ ได้ โดยองค์กรหนึ่งจะเสนอชื่อบุคคลได้มากที่สุดจังหวัดละ 1 คน และเสนอได้มากที่สุด 77 คนรวม 77 จังหวัดทั่วประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดองค์กรต่างๆ ต้องมาลงทะเบียนกับกกต. เพื่อให้กกต. รับรอง และมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการเลือกเป็นส.ว. ให้ได้ก่อน ทั้งนี้องค์กรสามารถเข้ามาสอบถามที่กกต. หรือดูรายละเอียดผ่านเว็บไซต์ของกกต. ได้ ว่าต้องเตรียมเอกสารใดบ้างในการมาลงทะเบียน
ส่วนกรณีที่มีการไม่เปิดเผยชื่อผู้สมัครส.ว. จะทำให้ ในแง่การตรวจสอบหรือคัดค้านจะเป็นไปได้ยากหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า การไม่เปิดเผยชื่อจะเป็นเฉพาะช่วงรับสมัครเท่านั้น เพื่อป้องกันการฮั้วกัน หลังจากรับสมัครเสร็จก็จะมีการติดประกาศรายชื่ออยู่แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ส่วนผู้สมัครไม่ได้มีข้อห้ามใดในการที่จะประกาศตัว ส่วนขั้นตอนหลังจากวันที่ 24 ตุลาคมที่เป็นวันสุดท้ายของการรับลงทะเบียนองค์กรที่จะร่วมเสนอชื่อบุคคลเข้ารับเลือกเป็นส.ว. นั้น กกต.จังหวัดจะส่งข้อมูลมายังกกต. กลาง เพื่อให้กกต. พิจารณา คาดว่ากกต. จะประกาศรายชื่อองค์กรในแต่ละจังหวัดได้ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้