ตร.เห็นชอบแผนเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนแจ้งความได้สะดวกขึ้น ตั้งทนายอาสาประจำสน.

09 ตุลาคม 2561, 14:13น.


หลังการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมกับตำรวจ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยมีนายอัชพร จารุจินดา ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม พร้อมคณะ, พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา และพลตำรวจเอกรุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตัวแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันเปิดเผยว่า จากการหารือ ได้ข้อสรุปแผนปฏิรูปที่จะต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วน 4 มาตรการ


มาตรการแรก คือการรับแจ้งความร้องทุกข์คดีอาชญากรรมต่างท้องที่ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วแก่ประชาชน ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่จุดเกิดเหตุ แต่สามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้สถานีตำรวจที่รับเรื่องร้องทุกข์เร่งสอบปากคำผู้แจ้งโดยละเอียด ก่อนจะส่งเรื่องให้กับสถานีตำรวจท้องที่ภายใน 3 วัน


มาตรการที่ 2 คือ โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ทางสภาทนายความจะจัดทนายไปประจำที่สถานีตำรวจ นำร่องที่ 150 สถานีตำรวจตัวเมือง และสถานีตำรวจที่มีคดีเกิดขึ้นมากกว่า 1,000 คดีต่อปี ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนสถานีที่มีคดีมากกว่า 2,000 คดีต่อไป จะมีทนายอาสาตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่สถานีตำรวจที่เหลือแม้จะไม่มีทนายอาสาในช่วงแรก แต่ประชาชนสามารถขอปรึกษากับทนายอาสาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


มาตรการที่ 3 คือ การห้ามนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในทุกกรณี เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิ์ของผู้ต้องหา ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด แต่สามารถนำรูปภาพของผู้ต้องหาหรือภาพถ่ายตามหมายจับมาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนได้ในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เช่น เพื่อการสืบสวนจับกุมคนร้าย หรือ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อเข้าแจ้งความเพิ่มเติมกับตำรวจ


มาตรการที่ 4 คือ การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในวันหยุดราชการ ซึ่งศาลจะมีการพิจารณาคำร้องผัดฟ้องฝากขังและปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุด ขณะที่ตำรวจก็จะเร่งพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถฝากขังผู้ต้องหาได้ในช่วงวันหยุด


นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือเรื่องการนำกำไลข้อเท้ามาใช้กับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวในชั้นพนักงานสอบสวน หลังจากที่ในชั้นศาลเริ่มนำมาใช้แล้ว ทั้งนี้เพื่อลบข้อครหาว่ามีแต่คนรวยที่จะได้รับการปล่อยตัว ส่วนรายละเอียดยังต้องพิจารณาเรื่องเงื่อนไขว่าผู้ต้องหาประเภทใดที่จะได้รับการปล่อยตัวและสามารถใช้กำไลข้อเท้าได้ เพื่อให้มีเกณฑ์พิจารณาที่เหมาะสม และจะต้องไม่ใช่คดียาเสพติด หรือคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง


...


ผสข.ปภาดา พูลสุข
ข่าวทั้งหมด

X