การเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ตำรวจยัดข้อหา ประชาชนจะต่อสู้และปฏิรูประบบสอบสวนอย่างไร?" ที่จัดโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.)
นาย ธนากร เจริญรุ่งเรือง ประชาชนผู้เสียหายจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังลูกชายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราจีนบุรียัดยาเสพติดและจับดำเนินคดี ก่อนที่จะสู้คดีจนต่อมาศาลฎีกาได้ยกฟ้อง โดยเขาได้ตั้งคำถามถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเหตุใดจึงกล้าทำลายชีวิตคนคนหนึ่งให้ได้รับโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต ทั้งที่ไม่ได้ทำความผิด จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย 30 ล้านบาทจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ด้วย
ส่วนนาย สมศักดิ์ ชื่นจิตร ผู้เสียหายจากการที่บุตรชายถูกตำรวจจ.ปราจีนบุรี ซ้อมให้สารภาพในคดีกระชากทอง แต่ต่อมาอัยการไม่สั่งฟ้อง เพราะสามารถจับผู้ร้ายได้ และมีการสู้คดีมานาน 9 ปี เป็นหนี้หลายล้านบาท มองว่าเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุมีความชะล่าใจและกล้าทำผิดมาโดยตลอด และขณะนี้กำลังไล่ฟ้องพยานฝ่ายโจทก์ที่ให้การเท็จ ยืนยันว่าจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด แม้ว่าจะมีความพยายามไกล่เกลี่ยขอชดใช้ค่าเสียหายให้ก็ตาม
ด้านนาย น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี มองว่า หัวใจการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญมีอยู่สองประการ คือ ต้องไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงหน่วยงานเดียวดำเนินคดีได้ และจะต้องมีหลายหน่วยงานรู้เห็นพยานหลักฐานและการดำเนินคดีเหมือนต่างประเทศ ทั้งนี้ในต่างประเทศยังมีมาตรฐานชัดเจนว่าก่อนอัยการจะสั่งฟ้องใครต้องมีพยานหลักฐานที่หนาแน่นและเชื่อมั่นได้ว่ากระทำผิดจริง ถ้าฟ้องแล้วหลุดคดีในศาลชั้นต้นอัยการก็จะไม่มีสิทธิฟ้องในชั้นอุทธรณ์อีก
...
ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร