การนัดพิจารณาสอบคำให้การจำเลยครั้งแรกในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยรวม 14 ราย นำโดยนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำกลุ่มนปช. พร้อมพวกที่เป็นบอร์ดการเคหะฯและบริษัทเอกชนอีก 12 ราย
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ขึ้นนั่งบัลลังก์พร้อมพิเคราะห์ว่า จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี และขอยื่นคำขอให้การแห่งคดีเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลฎีกาฯ ศาลฎีกาฯได้อนุญาต แต่กำหนดกรอบให้ยื่นคำขอภายใน 30 วัน ศาลฎีกาฯยังได้มีคำสั่งนัดตรวจพยานหลักฐานคดีดังกล่าวครั้งต่อไปในวันที่ 12 และ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.30น. โดยให้จำเลยเตรียมพยานหลักฐานมาให้พร้อม
ศาลฎีกาฯยังมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีอม.102/2561 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย อริสมันต์ พร้อมพวก 5 คนที่เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้นายวัฒนา และพวกอีก 9 คน ใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางทุจริตในคดีโครงการบ้านเอื้ออาทรให้เป็นสำนวนคดีเดียวกับคดีอม.42/2561ของนายวัฒนา และพวกอีก 9 ราย โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าสำนวนคดีทั้งสองมีความเหมือนกันและเพื่อความสะดวกในการทำคดี จึงมีคำสั่งให้รวมสำนวนทั้งสองคดีไว้เป็นคดีเดียวกันตามที่โจทก์ร้องขอมา โดยนายวัฒนา จะเป็นจำเลยที่ 1 ไล่มาตามลำดับจนถึงจำเลยที่ 14 ซึ่งจำเลยไม่ได้คัดค้าน ศาลฎีกาฯยังมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่เป็นบุคคลและนิติบุคคลที่หลบหนีไม่มาตามคำสั่งศาลในวันนี้ด้วย โดยให้เร่งติดตามตัวบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลที่หลบหนีมาเบิกตัวต่อศาลฎีกาฯในคราวหน้า พร้อมให้ถือว่าจำเลยที่หลบหนีให้การปฏิเสธคดี และศาลฎีกาฯจะพิจารณาคดีลับหลังตามกฎหมาย
หลังการสอบคำให้การนายวัฒนา และนายอริสมันต์ ต่างปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยนายวัฒนา แค่เพียงโบกมือยิ้มทักทายก่อนจะรีบขึ้นรถออกไปทันที ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าระหว่างรอการขึ้นนั่งบัลลังก์ขององค์คณะตุลาการศาลฎีกาฯที่เป็นเจ้าของสำนวนคดี นายวัฒนา มีท่าทีเหมือนเครียดเล็กน้อยและไม่สบตากับใคร
คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรเกิดขึ้นในยุคที่นายวัฒนา ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 2 ซึ่งภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ(คตส.) ได้ตรวจพบการส่อทุจริตโครงการก่อนมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการฯตรวจสอบ และป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดนายวัฒนา และพวก พร้อมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ซึ่งศาลฎีกาฯมีคำสั่งประทับรับฟ้องไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม