ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างคณะนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ของอินเดียซึ่งศึกษาเรื่องการเสียชีวิตจากการถ่ายภาพเซลฟีทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงพฤศจิกายน 2560 และเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องนี้ในวารสารการแพทย์ประจำครอบครัวและการปฐมพยาบาลของอินเดีย บ่งชี้ว่าการถ่ายภาพเซลฟีเพื่อให้ได้ภาพสวยๆอาจจะเป็นเรื่องสนุกสนาน แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพเซลฟีขณะขับรถ,หรือขณะบรรจุกระสุนเต็มแม็กหรือยืนถ่ายภาพบนหน้าผาที่ลาดชันใกล้กับบริเวณยอดของน้ำตก คุณอาจจะต้องคิดให้รอบคอบเสียก่อน ระบุว่า จากการศึกษาเรื่องนี้ คณะนักวิจัยพบว่า มีคนเสียชีวิต 259 ศพจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการถ่ายภาพเซลฟีนับตั้งแต่ปี 2554
ในจำนวนนี้ อินเดีย มีกรณีคนเสียชีวิตจากการถ่ายภาพเซลฟีมากที่สุดคือ 159 ศพ รองลงมาคือรัสเซีย ส่วนอันดับที่ 3 คือ สหรัฐและอันดับที่ 4 คือปากีสถาน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นบุรุษและมีอายุต่ำกว่า 30 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72 ส่วนสตรีเสียชีวิตร้อยละ 27 นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าแม้โดยทั่วไปสตรีจะนิยมถ่ายภาพเซลฟีมากกว่าบุรุษ แต่พบว่าบุรุษใช้วิธีการที่บ้าบิ่นมากกว่าสตรี เช่นการยืนถ่ายภาพเซลฟีบนหน้าผา เพื่อให้ได้ภาพสวยๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีบุรุษเสียชีวิตจากการถ่ายเซลฟีมากกว่าสตรี
ผู้วิจัยพบว่าสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตคือการจมน้ำตาย มักจะเกี่ยวข้องกับกรณีการถ่ายเซลฟีบนเรือแล้วถูกคลื่นซัดเรือจมในทะเลหรือหรือพลัดร่วงจากเรือแล้วจมน้ำตาย ส่วนสาเหตุรองลงมาเป็นกรณีเกี่ยวกับการถ่ายเซลฟีบนรถไฟที่กำลังแล่นมาด้วยความเร็วสูง สาเหตุอันดับที่ 3 คือการถูกไฟไหม้และการพลักตกจากที่สูง น่าสังเกตว่าในสหรัฐฯมีหลายคนที่เสียชีวิตจากการถ่ายเซลฟีที่เกี่ยวกับปืน คือการโพสต์ท่าทางถือปืนที่บรรจุกระสุนอยู่แล้วปืนลั่น ทำให้เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ