การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธาน ช่วงเช้าที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ชี้แจงว่า จากปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำหลายด้าน และการทำงานของแต่ละหน่วยงานขาดการบูรณาการการทำงาน จึงต้องร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ รวม 102 มาตรา ในร่างได้บัญญัติให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ, ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถจัดการน้ำได้ดีขึ้น ให้มีการตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กนช.ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารน้ำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และต้องส่งนโยบายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบด้วย ทั้งมีหน้าที่บริหารทรัพยากรน้ำในภาวะปกติให้เกิดความเป็นเอกภาพ
ส่วนในกรณีเกิดเหตุน้ำท่วมหรือวิกฤตด้านน้ำ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยให้นายกฯเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ เพื่อแก้ไขจนกว่าจะพ้นวิกฤต ส่วนในระดับลุ่มน้ำบัญญัติให้มีการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำต่างๆ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเลือกกันเองหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำดังกล่าว
นอกจากร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแล้ว วันนี้ยังมีร่างกฎหมายสำคัญที่ต้องติดตามคือ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอ เช่น ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร, ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา, ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการพิจารณาในวาระแรกชั้นรับหลักการ ก่อนจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณาปรับแก้ร่างเพิ่มเติมและส่งกลับให้สนช. ให้ความเห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 ร่างทั้ง 6 ฉบับมีความสำคัญคือ เป็นการกำหนดแนวทางไปสู่การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงกลางปีหน้า ที่ประชุมยังมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายอื่นด้วย เช่น ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ, ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ที่ครม.เป็นผู้เสนอ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร