หลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้สัมภาษณ์กรณีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมขังบริเวณวงเวียนบางเขน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ว่ากทม. ได้ก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (วอเตอร์แบงก์) เสร็จแล้ว แต่ทางผู้รับเหมายังไม่ได้ส่งมอบงานให้ กทม. ทำให้เจ้าหน้าที่ กทม.ไม่มีกุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวมักเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ กทม. ได้แก้ไขปัญหาชั่วคราว โดยติดตั้งระบบสูบน้ำบริเวณหลักสี่ ดึงน้ำจากถนนใกล้เคียงลงสู่คลองลาดพร้าว ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายจัดทำโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน แก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งจะช่วยดึงน้ำฝนบริเวณวงเวียนบางเขนมากักเก็บไว้ในบ่อหน่วงน้ำ เมื่อฝนหยุดตกจะสูบน้ำที่เก็บไว้ระบายลงสู่คลองบางบัวและคลองรางอ้อ-รางแก้ว จากนั้นสำนักการระบายน้ำจึงดำเนินการขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างตามระบบราชการ เพื่อให้บริษัทรับเหมาเข้ามาดำเนินก่อสร้าง เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 และจะสิ้นสุดสัญญาลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 120 วัน ขณะนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ จึงอยู่ระหว่างส่งมอบงานให้ กทม. และกทม. จะเข้าไปตรวจรับภายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้
ดังนั้น ทรัพย์สินในพื้นที่ก่อสร้างจึงไม่ใช่ กทม. เพราะ กทม.ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้ผู้รับเหมาดำเนินการ นอกจากนี้ในพื้นที่บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน ยังมีตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าเพื่อเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำ เพื่อป้องกันทรัพย์สินชำรุดเสียหาย จึงมีระบบป้องกันโดยล็อกกุญแจไว้ ซึ่งผู้รับเหมาเป็นผู้ถือกุญแจตู้ควบคุมทั้งหมด กรณีที่เกิดขึ้นเกิดฝนตกหนัก ผู้รับเหมาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ทำให้ กทม.ไม่สามารถเปิด-ปิดตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าของเครื่องสูบน้ำได้ซึ่ง กทม. ได้เจรจากับผู้รับเหมาว่ากรณีมีฝนตกหนัก แม้จะยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ กทม.แต่ผู้รับเหมาต้องอยู่ประจำตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า เพราะเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งชั่วคราวไม่เพียงพอในการรองรับปริมาณฝนตกหนักมาก ส่งผลให้น้ำระบายล่าช้า