การสนับสนุน และรณรงค์ให้ ชุมชนลดปริมาณใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม จากปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) สมัยที่ประชุมวิสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 1/2561 พล.ท.โชติภณจันทร์อยู่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้เสนอขอให้ กทม. มีนโยบายให้โรงพยาบาลและโรงเรียนในสังกัด กทม. ลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม รวมทั้งรณรงค์ให้ชุมชนช่วยกันลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม เนื่องจากปัจจุบัน ปัญหามลภาวะทางอากาศมลพิษทางน้ำ และปัญหาขยะมีปริมาณสูงขึ้น เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยกล่าวว่า จากข้อมูลขยะที่ กทม. จัดเก็บได้เฉลี่ยวันละ 10,500 ตันต่อวัน เป็นขยะพลาสติกหลอด ถุงพลาสติก พลาสติกประเภทอื่นๆ ประมาณ 1,400 ตันต่อวัน หรือสามารถจัดเก็บถุงพลาสติกได้ประมาณ 80 ล้านใบต่อวัน เมื่อเทียบกับประชาชนใน กทม. จำนวน 10 ล้านคน เฉลี่ยใช้ถุงพลาสติกคนละ 8 ใบต่อวัน แต่ละปี กทม. ต้องสูญเสียงบประมาณจัดเก็บขยะเป็นจำนวนมาก จากวิธีการเผาและฝังกลบที่ต้องใช้ระยะเวลาย่อยสลาย 450 ปี จึงเห็นว่าวิธีการจัดเก็บที่ดีที่สุด คือช่วยกันลดปริมาณขยะ และหากลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้ จะสามารถช่วยลดปัญหาขยะและประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงขอให้ กทม. มีนโยบายให้โรงพยาบาลและโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม พร้อมรณรงค์ให้ชุมชนช่วยกันลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 20 เสียง
ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะสมาชิกสภากรุงเทพมหานครฝ่ายบริหาร กล่าวว่า การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นนโยบายที่ กทม. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ให้ทุกหน่วยงานลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกกล่องโฟม และใช้ถุงผ้าหรือวัสดุอย่างอื่นแทน โดยสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการใช้ถุงผ้าแทนถุงยาเพื่อส่งยาให้ผู้ป่วยที่อยู่ในหอผู้ป่วยมากกว่า 1 ปี และเมื่อเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม สำนักการแพทย์ ได้ใช้ถุงผ้าเพื่อใส่ยาให้ผู้ป่วย ในทุกโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
ส่วนปี 2562 สำนักการแพทย์ ได้สั่งหยุดผลิตถุงพลาสติกที่บรรจุยา พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนผู้มารับบริการใช้ถุงผ้าแทนถุงยา รับบริจาคถุงผ้า และรณรงค์ต่อเนื่องกับผู้ประกอบการในโรงพยาบาลให้ลด ละ พลาสติกและกล่องโฟม และใช้วิธีให้ประชาชนนำภาชนะมาใส่เอง ส่วนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 โรงเรียน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน วันเปิดภาคเรียนที่ 2 ทุกโรงเรียนจะใช้กล่องนมกระดาษ แทนนมถุงพลาสติก ทั้งนี้เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกที่เกิดจากนมโรงเรียน วันละ 250,000 ซอง