ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วันนี้ (28 ส.ค.) องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ยกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นอุทธรณ์เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ โดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์จำเลยอีก 3 คน ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงมีมติเสียงข้างมากว่า การกระทำของ พล.ต.ท.สุชาติ ไม่มีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 ไปก่อนหน้านี้ คำอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.จึงฟังไม่ขึ้น
หลังฟังคำพิพากษา พล.ต.ท.สุชาติ กล่าวว่า พอใจกับคำพิพากษา และน้อมรับ หลังจากสู้คดีมานานเกือบ 10 ปี โดยยืนยันว่าปฏิบัติตามหน้าที่และกฎหมาย แต่เห็นว่าคำพิพากษานี้ ไม่สามารถเป็นแนวปฏิบัติของตำรวจได้ เพราะต้องดูแต่ละสถานการณ์ ซึ่งถือเป็นบทเรียนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องมีความรอบคอบในการปฏิบัติ รวมทั้ง ต้องยึดกฎหมายด้วย
คดีดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คนไป เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การสลายการชุมนุม ทั้งช่วงเช้า-บ่าย ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ไปจนถึงตอนค่ำ ที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ เนื่องจากต้องเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม เพื่อฟังการแถลงนโยบายจากรัฐบาล และเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบกับมีการเจรจาและแจ้งเตือน ก่อนที่จะใช้แก๊สน้ำตาแล้ว
อีกทั้ง ผู้ชุมนุมยังใช้หนังสติ๊ก ก้อนหิน แท่งเหล็ก ปาและยิงใส่เจ้าหน้าที่ทำให้จำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชน และจากการพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นผลจากแก๊สน้ำตา ในทางตรงกันข้าม กลับพบสารที่มีอยู่ในส่วนประกอบของระเบิดซีโฟร์ และระเบิดแสวงเครื่องที่ทำเอง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านแก๊สน้ำตายืนยันว่า แก๊สน้ำตาไม่เคยทำให้ผู้ใดเสียชีวิต นอกจากนี้ ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีก็ระบุว่า แก๊สน้ำตาถือเป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชนตามแนวทางของนานาประเทศ