ปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากผู้ขับขี่รถยนต์ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ยืนยันว่า จากสถิติพบว่าผู้ขับขี่กว่าร้อยละ 60 ไม่มีใบขับขี่ และมีโอกาสที่จะประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่มีใบขับขี่ 2 เท่า ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ แต่มาขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูงขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องปรับแก้กฎหมายเรื่องใบขับขี่ให้เหมาะสม ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เสริมสร้างวินัยจราจร โดยยึดหลักเกณฑ์ "ออกยาก ยึดง่าย"
จากการรวบรวมข้อมูล พบว่าในกลุ่มรถปิคอัพ มีผู้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ถึงร้อยละ 5 ส่วนในกลุ่มรถยนต์ มีผู้ไม่มีใบขับขี่ถึงร้อยละ 9 ส่วนรถจักรยานยนต์ พบว่า มีผู้ไม่มีใบขับขี่ สูงถึงร้อยละ 30 ขณะเดียวกัน พบว่า สถิติผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุน้อยที่สุด เฉลี่ยที่ 9 ขวบ และน่าเป็นห่วงว่า เด็กกลุ่มนี้ มักจะได้รับการสอนขับรถจากครอบครัว ไม่ใช่ผ่านโรงเรียนที่มีการฝึกทักษะอย่างถูกต้อง
ด้านนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ยืนยันว่า หากบังคับใช้กฎหมายเรื่องใบอนุญาตขับขี่รถได้ จะตัดวงจรการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นเยาวชนได้มากขึ้น ขณะนี้พบว่ามีเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึงปีละ 1,688 คน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมาก
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษความผิดเกี่ยวกับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถ ซึ่งทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจ และมองว่าเป็นการเพิ่มโทษที่สูงเกินไป พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร ยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมาย เป็นการคุ้มครองประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัย ซึ่งโทษจำคุก ตำรวจจะจับผู้กระทำความผิด และทำสำนวนส่งฟ้องต่อศาล ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาโทษ ตำรวจไม่มีสิทธิในการปรับเหมือนกับปัจจุบัน เพราะอัตราโทษใหม่ที่มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี เป็นอัตราโทษสูง แต่ปัจจุบันเป็นอัตราโทษต่ำ ถือเป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งประเด็นนี้จะลดช่องว่างในการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย หากพบว่ายังมีตำรวจทุจริต จะดำเนินคดีอาญาและวินัยขั้นเด็ดขาด และยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 39 ปีที่มีการใช้กฎหมาย ประชาชนไม่มีความเกรงกลัว และฝ่าฝืนกฎหมายเรื่อยมา
พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุถึง ข้อสั่งการให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องแสดงใบหน้าที่ชัดเจน ห้ามใส่หน้ากากปิดบังใบหน้า เด็ดขาด โดยคำสั่งดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ 21 สิงหาคม เพื่อลดข้อครหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ แต่คำสั่งดังกล่าวได้ผ่อนผันให้เจ้าหน้าที่จราจรที่ต้องใส่หน้ากากกันควันพิษได้ แต่เมื่อแสดงตัวต้องถอดออก เช่นเรียกตรวจ ทั้งนี้รวมถึงแว่นดำและหมวกคลุมหน้าเด็ดขาด ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นให้ส่งภาพและคลิปร้องเรียนมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ