ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ประจำปี 2561
นาย ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า ไตรมาสที่สองเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 1 โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปี 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.8
ด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในภาคเอกชนและการลงทุนรวม โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.6 ด้านการลงทุนจากภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.9 ส่วนการส่งออกในไตรมาสที่สองมีมูลค่ารวม 63,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ที่สูงต่อเนื่องร้อยละ 12.3 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อคิดเป็นเงินบาท โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ส่วนราคาสินค้าที่ส่งออกปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าขยายตัวมากที่สุดกว่าร้อยละ 31.1 รองลงมาเป็นข้าว
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส ด้านการว่างงานมีเกณฑ์อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 โดยตัวเลขผู้มีงานทำขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยเฉพาะการจ้างงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในรอบ 10 กว่าไตรมาส ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ส่วนหนี้สาธารณะสิ้นสุดเดือนมิถุนายนมีมูลค่าทั้งสิ้น 6,531 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่าโดยรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.2-4.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายปัจจัย เช่น การฟื้นตัวจากการลงทุนของภาคเอกชน, การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และเเรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนในภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งเบิกจ่ายและลงทุนต่อเนื่อง เป็นต้น คาดว่าทั้งปี 2561 การลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 4.4 โดยการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.3 ส่วนการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 10 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อปีก่อน ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1
นโยบายการบริหารเศรษฐกิจในปีนี้ ควรให้ความสำคัญกับ 4 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานราก ปัจจัยที่สองคือ ต้องสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญๆอย่างต่อเนื่อง ต่อมาคือ การเร่งลงทุนในภาครัฐ และปัจจัยสุดท้ายคือ การเตรียมความพร้อมด้านแรงงานและคุณภาพแรงงาน
...
ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร