สสส.-มสส.รับกังวลปัญหากัญชาในเด็ก-เยาวชน ก่อนใช้เฉพาะการแพทย์ เหตุพรรคการเมืองหนุนเปิดเสรีนาน 3 ปี

23 กรกฎาคม 2568, 20:14น.


         เมื่อวันพุธที่ 23  กรกฎาคม 2568 ณ ห้องกรรณิการ์  โรงแรมแมนดาริน  กรุงเทพมหานคร,  มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)  โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป ในหัวข้อ “ทิศทางแนวโน้มกัญชาเพื่อการแพทย์...ทำได้จริงหรือ?” โดยมี นายจิระ ห้องสำเริง สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ



          นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้านการสื่อสารมวลชน   กล่าวเปิดการประชุมว่าประเด็นการใช้ประโยชน์และอันตรายจากการใช้กัญชายังเป็นที่ถกเถียงของคนทั่วโลก แม้หลายประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการแล้วเช่นอุรุกวัย แคนาดา เม็กซิโก มอลตา ลักเซมเบิร์ก แอฟริกาใต้ เยอรมนี แต่ประเทศไทยยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ ส่วนการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้นดูเหมือนว่าสังคมส่วนใหญ่จะไม่ต่อต้าน



          ด้านบทบาท สสส.กับการขับเคลื่อนประเด็นกัญชาและสิ่งเสพติดนั้น สสส.มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการและการนำไปผสมในผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงสนับสนุนให้ภาคีที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจกรรมใน 2 แนวทางคือ การสนับสนุนให้มีการศึกษาและวิจัยสร้างองค์ความรู้เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและสังคมโดยรวม





          ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือการสื่อสารรณรงค์ให้ความรู้กับเด็ก เยาวชนและสังคมให้รับทราบถึงอันตรายของการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสมเช่นการใช้กัญชาไปผสมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆรวมทั้งการสื่อสารให้รับรู้ถึงอันตรายจากได้รับกัญชามือสองเช่นเดียวกับบุหรี่มือสอง



          นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด หนึ่งในองค์กรที่ร่วมเสนอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  9 มิถุนายน 2565 กำหนดให้ทุกส่วนของกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดและสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด และการที่รัฐสภามีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ.2564 โดยการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นการเปิดเสรีทางกัญชาอย่างไม่มีข้อจำกัด





          ประชาชนคนไทยจึงอยู่กับสถานการณ์เสรีกัญชามากกว่า 3 ปี มีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และได้รับผลกระทบจากกัญชา เป็นโจทย์ทางสังคมที่ถกเถียงกันตั้งแต่ฝ่ายการเมืองจนถึงครอบครัวและชุมชน ปัญหาคือเด็กเยาวชนหาซื้อได้ง่ายใช้กัญชาผสมกับสารเสพติดประเภทอื่น ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสพติดและบางคนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช การใช้กัญชาเป็นเรื่องปกติของคนที่ต้องการใช้กลายเป็นค่านิยมทางสังคม ถึงเวลาแล้วที่ควรต้องมีกฎหมายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและลดผลกระทบจากการใช้กัญชาในทางที่ผิด





          หากมองในมุมบวกประโยชน์ที่เกิดจากการใช้กัญชาในทางสร้างสรรค์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ การใช้กัญชาทางการแพทย์ที่มาจากฐานงานวิจัยเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และสามารถบรรเทาอาการและรักษาโรคได้อย่างเป็นรูปธรรม



           ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ทนายความ และผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย). กล่าวว่าเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2568 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2568  เพื่อกำกับการขายในประเทศให้เข้มงวดมากขึ้นและเน้นให้ใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น โดยเพิ่มเงื่อนไขที่ผู้ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2552 ต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น สังคมไทยจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างปลอดภัย การมีพระราชบัญญัติควบคุมกัญชาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง





          ขณะนี้เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 17,343 คน ได้ร่วมกันเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเนื้อหาเน้นการใช้กัญชาทางการแพทย์ ไม่ส่งเสริมการขายหรือใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ โดยมีคณะกรรมการกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ที่ชัดเจน มีการออกใบอนุญาตกัญชาแยกออกจากกัญชง  มีการป้องกันและควบคุมการใช้กัญชาไม่เหมาะสม ควบคุมการโฆษณาการสื่อสารการตลาดกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชา ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์ที่มีคุณภาพ สถานพยาบาลปลูกกัญชาเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้  ผู้ป่วยปลูกกัญชาได้ถ้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งการคุ้มครองเด็กเยาวชน โดยเชื่อว่าจะทำให้คนไทย อยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างปลอดภัย โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติด เพราะหากมีการเจรจากันได้ปัญหากัญชาก็จะถูกมองข้าม ดังนั้นเราควรจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดการควบคุมอย่างจริงจัง โดยประชาชนสามารถร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=474 ) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2568 นี้



          ด้านสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการประชุมได้มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะว่า จะต้องให้ความรู้กับสังคมว่า การปลูกกัญชาที่ใช้ในทางการแพทย์ต้องเป็นการปลูกในโรงเรือนที่เป็นระบบปิด มีการควบคุมแสงแดดและอุณหภูมิ ซึ่งต้องลงทุนสูง ไม่ใช่การปลูกในพื้นที่ระบบเปิดทั่วไปอย่างที่เป็นอยู่





          นอกจากนี้จะต้องมีการวิจัยทางคลินิก ในกลุ่มโรคที่มีหลักฐานหนักแน่นว่าสามารถใช้กัญชารักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ควรมีการจำกัดใบอนุญาตและกำหนด Zoning ให้เป็นพื้นที่ควบคุม รวมทั้งการมีมาตรการห้ามนำกัญชาไปผสมในสูตรอาหารต่าง ๆ และควรหาวิธีการในการสื่อสารกับเยาวชน กลุ่มเปราะบางให้รู้เท่าทันถึงอันตรายของกัญชา



#พิษกัญชา



#กัญชาทางการแพทย์ 

ข่าวทั้งหมด

X