หลังการหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมเลือกตั้งทั่วไป นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการประชุมครั้งแรกที่จัดขึ้น มีพรรคการเมืองเข้าร่วม 73 พรรคมีทั้งพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งในที่ประชุมมีการชี้แจงปัจจัยการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีการเสนอ 5 ข้อประกอบด้วย หากจะจัดการเลือกตั้งได้ต้องดูความเรียบร้อย ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การได้รับพระราชทานกฎหมายกลับลงมาเมื่อใด การเปลี่ยนกกต .ชุดใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้กกต.ชุดใหม่ ก็ยังสามารถจัดการเลือกตั้งได้ โดยให้กกต.ชุดเก่าเป็นผู้ดำเนินการ ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาในการจัดตั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกันกับการเลือกตั้งทั่วไป และสุดท้ายจะต้องดูความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ โดยบอกด้วยว่าหากเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นในขณะนี้ก็สามารถวางใจได้
ส่วนข้อเสนอในที่ประชุมภายหลังการหารือ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้มีการตั้งตุ๊กตาในการกำหนดวันเลือกตั้ง เร็วที่สุด จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่หากจัดการเลือกตั้งไม่ได้ก็จะเลื่อนไปเป็นอาทิตย์สุดท้ายของเดือนนั้นๆ เช่น 31 มีนาคม 8 เมษายน และ 5 พฤษภาคม แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าเป็นวันใด เนื่องจาก อำนาจหน้าที่การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกกต. ไม่ใช่หน้าที่ของคสช.หรือรัฐบาล แต่ยังระบุอีกว่านายกรัฐมนตรี คาดว่า มีความพร้อมในการเลือกตั้งเร็วที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกับขอสื่อมวลชนอย่าพาดหัวข่าวว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์นั้นจะเป็นการจัดวันเลือกตั้งทันที
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวถึงปัญหาที่พรรคการเมืองเสนอว่า พรรคการเมืองยังคงติดปัญหาอยู่ที่คำสั่งคสชที่ 53/2560 เรื่องของการประชุมครั้งใหญ่ของพรรคการเมือง การทำไพรมารีโหวต ได้มีการกำหนดระยะเวลา กระบวนการจัดการเลือกตั้ง โดย 90 วันแรก เป็นช่วงเวลารอพระราชทานกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ช่วงที่ 2 คือช่วง 90 วัน จากที่มีการประกาศกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษาและรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ คาดว่า จะเป็นช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2561 ซึ่งช่วงเวลานี้จะมีการคลายล็อคให้พรรคการเมืองสามารถประชุมพรรคการเมืองใหญ่ได้ โดยไม่ต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคเข้าร่วมประชุมถึง 4 คนได้ รวมไปถึงกกต. สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้งได้ โดยมีการเตรียมเสนอให้แก้ไข คำสั่งที่ 53/2560 เรื่องการทำไพรมารีโหวต
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอ 4 ข้อให้คสช.ได้พิจารณาประกอบด้วย ไม่ต้องมีประธานสาขาเข้าประชุมในการประชุมใหญ่ เสนอให้ใช้การเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวตเป็นระดับภาคแทน และเสนอให้เลื่อนการใช้ไพรมารีโหวตไปใช้ในครั้งหน้า รวมไปถึง มีการเสนอให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตเลย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะได้นำเรื่องนี้เข้าไปหารือร่วมกับคสช.และสนช. แต่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ต้องรอคสช.เป็นผู้พิจารณาก่อน คาดว่าในการประชุมครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากกฎหมายลูกประกาศใช้ น่าจะชัดเจนวันเลือกตั้ง และวันที่ปลดล็อคคำสั่งคสช. ทั้งคำสั่งที่ 53/2560 รวมไปถึงการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน อย่างไรก็ตามการประชุมในวันนี้ มีข้อเสนอที่ทำให้เห็นถึงความไม่พร้อมของพรรคเล็กในหลายๆเรื่อง เช่นการขอให้ยกเลิกทุนประเดิมพรรค ที่ตามกฎหมายนั้นกำหนดไว้ที่พรรคละ 1 ล้านบาท และยังมีอีกหลายพรรคที่เสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าสมาชิกพรรค เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเป็นภาระของสมาชิก และมีบางส่วนเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคให้
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ระบุ ถึงการหารือครั้งนี้ว่ารู้สึกพอใจ ส่วนข้อเสนอที่จะปลดล็อคให้พรรคเตรียมตัว 3 เดือน ก่อนเลือกตั้ง ส่วนตัวคิดว่าทำได้ทัน
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี