การพบหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป มีตัวแทนรัฐบาลและ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีพรรคที่ตอบรับเข้าร่วมในครั้งนี้74 พรรค เช่นพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา นำทีมโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาพรรค นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทย นำทีมโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ด้านคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ส่งนายประพันธ์ นัยโกวิท เป็นผู้แทนกรธ.เข้าร่วมรับฟังด้วย
สำหรับการประชุมในครั้งนี้เจ้าหน้าได้แจ้งว่าไม่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมนำโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารเข้าไป รวมถึงไม่ อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง แต่จะมีการแถลงข่าวหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น
นายจุรินทร์ เปิดเผย ก่อนเข้าร่วมพูดคุยพรรคการเมือง ว่าวันนี้ตั้งใจมาฟังคสช. เป็นหลักว่าจะมีแนวทางคลี่คลายปัญหาอย่างไร เพราะกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดไว้ว่าให้พรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรค ที่จะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน หลัง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้แล้ว รวมถึงข้อบังคับในการทำไพรมารีโหวตด้วยเช่นกัน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวได้ล่วงเลยกำหนดมาแล้ว พรรคการเมือง ไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากติดล็อคอยู่ 2 ล็อค คือคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 รวมไปถึงภารกิจความรับผิดชอบของกกต.เช่น การประกาศเขตเลือกตั้งและเงื่อนเวลาการจัดตั้งสาขาพรรคและการรับรองสมาชิก ซึ่งหากปลดล็อกสองเรื่องดังกล่าวได้ก็จะสามารถดำเนินการได้ราบรื่น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความประสงค์ของคสช.ที่จะพิจารณา ซึ่งพรรคจะนำเรื่องทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุม และรอฟังว่า คสช.และกกต. จะแก้ปัญหาอย่างใด พร้อมระบุว่าแนวทางของคสช. จะออกมาเป็นอย่างไรทางพรรคก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่ขอให้สามารถปฏิบัติได้จริงและไม่สร้างปัญหาใหม่เหมือนคำสั่งที่ 53/2560
ส่วนกรณีที่พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้จะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ส่วนตัวตอบไม่ได้ว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หรืออาจเป็นไปได้ว่าคสช. มีคำตอบอยู่ในใจแล้ว
ด้านนายวราวุธ เปิดเผยว่า วันนี้จะสอบถามที่ประชุมร่วมถึงคำสั่งคสช.โดยเฉพาะกรณีที่ให้จัดทำไพรมารีโหวต ที่ต้องมีการจัดประชุมสาขาพรรคก่อน และต้องมีสมาชิกสาขาละไม่ต่ำกว่า 100 คน และทั่วประเทศ จากการคำนวนพรรคจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 7,000 คน แต่การยืนยันสมาชิกพรรคล่าสุด มีเพียง 3,000 กว่าคนเท่านั้น จึงจะต้องมีการประชุมใหญ่ของพรรคก่อน แต่คำสั่งที่ 53/2560 กลับยังไม่ปลดล็อคให้สามารถจัดการประชุมใหญ่ได้ ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อพรรคการเมือง ดังนั้น จึงตั้งใจที่จะมาสอบถาม คสช. ว่าทางพรรคจะสามารถดำเนินการหาสมาชิกได้เมื่อใด
นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่กังวลกรณีที่ประชุมวันนี้ห้ามนำโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในที่ประชุม ส่วนการที่ให้แต่ละพรรคจับกลุ่มเพื่อนำเสนอโดยไม่ให้ทุกพรรคนำเสนอได้ทั้งหมด นายวราวุธ ระบุว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี และประหยัดเวลา เพราะหากให้ทุกพรรคได้นำเสนอ ก็จะทำให้เวลาล่วงเลยไปมากกว่าเวลาที่กำหนดไว้ 2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เชื่อมั่นคงว่า การหารือครั้งนี้จะได้รับคำตอบที่ชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.ปี 2562 เพราะยังไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ในการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี