การบรรยายในหัวข้อ " ทัศนะและมุมมองในการนำเทคโนโลยีด้านการชลประทานมาใช้ในประเทศไทย" นาย ชัยวัฒน์ปรีชาวิทย์ ที่ปรึกษา กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเองต้องปรับตัวและได้เข้าสู่ยุค 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล จัดทำข้อมูลแบบ (Big Data)บิ๊กดาต้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการทำการเกษตรของเกษตรกร นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้นำเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องการสำรวจออกแบบก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งการตรวจสภาพเขื่อนและอุปกรณ์ต่างๆเกี่ยวกับการชลประทาน และบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ Smart Water Operation Center เพื่อติดต่อสื่อสารข้อมูล และวิเคราะห์ปริมาณน้ำ
ภายในปีหน้ากรมชลประทานมีกำหนดปรับปรุงซอฟท์แวร์และสร้างแบบจำลองด้วยเทคโนโลยีมาใช้ในการพยากรณ์และบริหารจัดการน้ำ ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ในฤดูฝนจะนำมาคำนวณได้ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเท่าใด และจะสามารถกักเก็บน้ำฝนได้เพียงใด ซึ่งจะทำให้กรมชลประทานตัดสินใจได้ดีขึ้นในการบริหารกักเก็บน้ำ
ส่วนในฤดูแล้งจะสามารถคำนวณล่วงหน้าได้ว่าแต่ละพื้นที่จะมีน้ำต้นทุนเท่าใด เหมาะสมที่จะปลูกพืชหรือปลูกข้าวเพียงใด และจะปลูกได้เท่าใด ซึ่งจะช่วยในเรื่องการวางแผนล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี แบบจำลองดังกล่าวยังสามารถนำมาคำนวณปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆทั่วประเทศได้ด้วยว่าจะมีเท่าใด โดยจะเริ่มนำมาใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อน แล้วค่อยขยายไปยังพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน เทคโนโลยี จะเข้ามาช่วยในเรื่องการคำนวณปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะรู้ว่าบริเวณไหนขาดแคลนน้ำแล้วจะประสานกับฝนหลวงให้เข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรต่อไป
อย่างไรก็ตามที่ปรึกษากรมชลประทาน ตระหนักดีว่าต้องนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างระมัดระวัง, ถูกวัตถุประสงค์ และสอดคล้องกับบุคลากร และต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำบิ๊กดาต้าเป็นหลักด้วย
ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร ผู้สื่อข่าว