เรือ “แด็ทติโล” ของกองทัพเรืออิตาลี นำผู้อพยพชุดแรกจำนวน 630 คน ซึ่งรับต่อมาจากเรือ “อควาริอุส” เดินทางถึงท่าเทียบเรือในเมืองบาเลนเซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปนแล้วก่อนเวลา 06.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 11.30 น.ตามเวลาประเทศไทย หลังทางการอิตาลีและมอลตาปฏิเสธไม่ยินยอมให้เรือ “อควาริอุส” เข้าเทียบท่าเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ทำให้ผู้อพยพจาก 26 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกา รวมทั้งอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ และปากีสถาน ต้องลอยเรือเคว้งคว้างกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนานนับสัปดาห์ ท่ามกลางคลื่นลมสูง สำหรับผู้อพยพชุดแรกนี้ ประกอบด้วย ชาย 450 คน หญิง 80 คน ในจำนวนนี้มีสตรีตั้งครรภ์อย่างน้อย 7 คน เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี 11 คน และวัยรุ่น 89 คน ส่วนผู้อพยพชุดต่อมาจะทยอยเดินทางมาพร้อมกับเรือ “โอเรียน” ของกองทัพเรืออิตาลีอีกลำ และเรืออควาริอุส คาดว่า จะเดินทางถึงสเปนในเวลาประมาณ 12.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยจะมีอาสาสมัครจากสภากาชาด 1,000 คน และล่ามอีก 470 คนคอยให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ชะตากรรมของผู้อพยพที่เดินทางจากบริเวณนอกชายฝั่งลิเบียมาพร้อมกับเรือเช่า “อควาริอุส” ของกลุ่มช่วยเหลือฝรั่งเศสเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความล้มเหลวของสหภาพยุโรป หรือ อียู ในการทำงานร่วมกันแก้ปัญหาการทะลักไหลบ่าของผู้อพยพนับตั้งแต่ปี 2558 โดยอิตาลีและมอลตาเป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกล่าวหาซึ่งกันว่า ล้มเหลวในการตอบสนองพันธกรณีด้านมนุษยธรรมของอียู ทำให้สเปนต้องเข้ามารับภาระดังกล่าวในที่สุดตามข้อเสนอของฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ตกลงแล้วว่า อียูควรสร้างศูนย์หลบภัยในแอฟริกา เพื่อป้องการไหลบ่าของผู้อพยพและการเสียชีวิต รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบของอียู เพื่อมิให้ปัญหาผู้อพยพกลายเป็นภาระของประเทศด่านหน้าเข้ายุโรปทางเรือ เช่น อิตาลี และกรีซ
ข้อตกลงนี้มีขึ้นหลังฝรั่งเศสตราหน้าอิตาลีกรณีปฏิเสธการรับเรือผู้อพยพในครั้งนี้ว่า ไม่มีความรับผิดชอบ ขณะที่นายแม็ททิโอ ซัลวินี รมว.กิจการภายในอิตาลี กล่าวแก้ตัวว่า เป็นเพราะอิตาลีไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจการลักลอบผู้อพยพอีกต่อไป ส่วนนายโจเซฟ บอร์เรล รมว.ต่างประเทศของสเปน ซึ่งก้าวเข้ามาแบกรับความรับผิดชอบนี้ก็เห็นว่า ยุโรปควรหล่อหลอมนโยบายร่วมกันเป็นยอมรับปัญหาร่วมกัน โดยสเปนยินดีรับผู้อพยพจากเรือ “อควาริอุส” ซึ่งมีคุณสมบัติผู้ลี้ภัย
....
(1305 F171)