ในวันนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ผู้ประกอบการยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz โดยกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ไม่ได้ร่วมยื่นประมูลในครั้งนี้ด้วย ทำให้วันนี้ ดีแทค จัดงานแถลงข่าวชี้แจงสาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ยืนยันว่าดีแทค มีคลื่นเพียงพอต่อการให้บริการ โดยไม่กระทบกับลูกค้า และมองว่าเงื่อนไขการประมูลครั้งนี้ไม่เหมาะสม มีการกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำไว้สูงมาก โดยองค์กรนานาชาติ ต่างก็ระบุว่าเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรในประเทศแล้ว ถือว่าไม่เหมาะสม หากกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำไว้สูง จะทำให้อัตราค่าบริการสูงขึ้นตามไปด้วย จากสถิติพบว่าราคาประมูลขั้นต่ำของประเทศไทย สูงเกือบที่สุดของนานาประเทศ รองจากอินเดีย และยังมองว่ากสทช. กำลังทำความต้องการซื้อเทียมขึ้นมา ในที่นี้หมายถึงคลื่นภายในประเทศมีมาก แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรให้มีคุณภาพเท่าที่ควร
นายลาร์ส กล่าวอีกว่า การตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าดีแทคจะไม่ประมูลคลื่นในครั้งต่อไป หากกสทช. จัดการประมูลขึ้นมาใหม่ ดีแทคจะนำรายละเอียดมาศึกษาเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่
ช่วงบ่ายวันนี้ AIS ได้ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน หลังจากนี้จะต้องมาติดตามต่อไปว่า 2 บริษัทใหญ่ของค่ายโทรศัพท์ไม่เข้าร่วมประมูลแล้วกสทช. จะยังจัดการประมูลอยู่อีกหรือไม่ มีรายงานว่ากสทช. จะเสนอเรื่องต่อรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช. )เพื่อขอความเห็นว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป โดยจะชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล
ส่วนกรณีที่ AIS ประกาศไม่เข้าร่วมประมูล แต่ผลตอบรับในตลาดหุ้นยังมีผลเป็นบวก ตรงข้ามกับดีแทค ที่มีผลตอบรับเป็นลบ ในเรื่องนี้นายลาร์ส ระบุว่า จะต้องติดตามต่อไป เพราะ AIS เพิ่งมาประกาศตอนบ่าย แต่ดีแทค ประกาศไปตอนเช้า และให้เหตุผลชัดเจนถึงการไม่เข้าร่วมประมูลกับผู้ลงทุนแล้ว ส่วนเหตุผลที่ AIS ไม่ร่วมประมูล ตนเองไม่ทราบ
ส่วนนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค กล่าวว่า ไม่อยากให้กสทช. มองว่าการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นในครั้งนี้เป็นชั้นเชิงทางธุรกิจ ดีแทคมีเหตุผลชัดเจน หลังจากนี้ดีแทคจะมีมาตรการเยียวยาลูกค้าไม่ให้กระทบกับการใช้งาน จนกว่าจะสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่ และหากหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz ไปแล้ว ดีแทคยังมีคลื่น 2300 MHz ที่ถูกนำมาให้บริการ 4G TDD รองรับ
ขณะเดียวกัน ยังมองว่าประเทศไทยมีความต้องการคลื่นความถี่ต่ำมากกว่าคลื่นความถี่สูง เพราะคลื่นความถี่ต่ำสามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงการคมนาคมพื้นฐาน กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระดับชุมชน แต่ประเทศไทยยังขาดแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ต่ำอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ดีแทคยืนยันว่า ลูกค้าจะต้องได้รับการคุ้มครองตามประกาศกสทช. คลื่น 1800 MHz ควรนำมาสู่การใช้งานสำหรับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานจนผู้ชนะการประมูลได้ทำตามกฎเกณฑ์และเปิดให้บริการวันแรก สำหรับคลื่น 850 MHz ที่ก่อนหน้านี้ ไม่ได้นำไปประมูล ยืนยันว่า ดีแทคจะต้องได้รับสิทธิ์เรื่องของการเยียวยาจากกสทช. ด้วย
ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข