TDRIแนะรัฐปรับปรุงนโยบายจัดการข้าว หลังเปิดประมูลสต๊อกยิ่งลักษณ์ชุดสุดท้ายขาดทุนกวา6แสนล้านบาท

14 มิถุนายน 2561, 17:38น.


หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้จัดการสต๊อกข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากถึง 18 ล้านตัน ซึ่งจนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 ได้ระบายข้าวสารไปแล้ว 14,514,414.87 ตัน มูลค่า 131,299 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตันละ 9,000 บาท ซึ่งขาดทุนจากต้นทุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท หรือคิดเป็นต้นทุนข้าวสารตันละ 24,000 บาท



สำหรับการเปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลลอตสุดท้ายที่เหลือ 2 ล้านตัน มีผู้ประกอบการสนใจทั้งหมด 41 ราย แบ่งเป็น การประมูลเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ปริมาณ 1.49 ล้านตัน มีผู้ยื่นเอกสาร 26 ราย และ 2.การประมูลเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ปริมาณ 540,000 ตัน มีผู้ยื่นเอกสาร 15 ราย โดยในวันที่ 14-15 มิถุนายน 2561 จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาซื้อ



รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากสถาบันทีดีอาร์ไอ มองว่า การระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลหมดลง เป็นการปลดล็อกพันธนาการซึ่งส่งผลดีต่อตลาดและราคาส่งออกข้าว ทำให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจว่าไทยจะไม่มีสต๊อกข้าวราคาถูกมาถล่มตลาดอีก รัฐบาลควรอาศัยจังหวะนี้ปรับปรุงนโยบายบริหารจัดการข้าวในระยะยาว โดยจะต้องยึดกลไกตลาดเป็นหลักเช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำข้อมูลการผลิตเพื่อให้การพยากรณ์ผลผลิตแม่นยำ เช่น โมเดลของสหรัฐ ซึ่งใช้แบบจำลองทางการเกษตร กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพเชื่อมโยงข้อมูลเชิงลึก จากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในต่างประเทศ เพื่อนำมาสื่อสารกับภาคการผลิตภายในประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภาครัฐและเอกชนร่วมกันดำเนินการการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ข่าวทั้งหมด

X