กรมศุลกากร นำโดยนายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึง สถานการณ์และมาตรการนำเข้า ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก และสถิติการจับกุมกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรขายสินค้าโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์
นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารกลาง รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์และมาตรการนำเข้า ส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพลาสติก จากสถิติตามใบขนที่มีการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยถูกกฎหมาย พบการนำเข้าเศษพลาสติกในปี 2560 จำนวน 145,764.98ตัน ส่วนในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคมมีจำนวน 212,051.72 ตัน ส่วนการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2560 มีจำนวน 644,436.71ตัน ในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคมมีจำนวน 52,221.46ตัน ซึ่งจากสถิติการนำเข้าตั้งแต่ปี 2557 - 2560 พบว่าเริ่มมีการนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซลเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากในปีพ.ศ. 2560 ประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะโดยมีผลบังคับใช้ในปีพ.ศ.2561 ซึ่งกว่าร้อยละ 90 นำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ส่วนเมื่อวันที่4มิ.ย.กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมหารือการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการนำเข้า-ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1. จัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสากรรม ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์บริหารความเสี่ยง 2. กรมศุลกากร จะใช้ระบบเอกซเรย์ เข้ามาตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ ร้อยละ100 (จากเดิมที่ใช้การสุ่มตรวจ โดย1ตู้จะใช้เวลาประมาณ 10นาที) 3. หากพบผู้นำเข้ากระทำผิด ไม่ทำตรงตามที่ขออนุญาตไว้ จะยึดของกลางเพื่อดำเนินคดีตามความผิด ก่อนผลักดันกลับประเทศต้นทาง โดยผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด 4. จะทำการตรวจสอบย้อนกลับ สำหรับบริษัทที่ได้รับอนุญาตนำเข้า เมื่อผ่านการตรวจโดยกรมศุลกากรแล้ว จะมีการแจ้งไปยังกรมโรงงานอุตสากรรม ให้ไปตรวจสอบที่โรงงานปลายทางเพื่อยืนยันความถูกต้อง 5. ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสากรรม ในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการอุดช่องโหว่ ในการนำเข้าไปยังปลายทาง และมาตรการเพิ่มโทษในกรณีที่มีการกระทำความผิด และ6. กรณีบริษัทกระทำความผิด ทางกรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อยกเลิกใบอนุญาตต่อไป
สำหรับสถานการณ์แต่ละท่าเรือในขณะนี้ 1.ท่าเรือกรุงเทพ มีการกักตู้คอนเทนเนอร์รวม 35ตู้ แบ่งเป็น ส่วนที่แจ้งว่าเป็นเศษโลหะอื่นๆ ที่มีเศษอิเล็กทรอนิกส์ปะปน จำนวน 33ตู้ และเป็นเศษพลาสติกที่ลักลอบนำเข้ามาอีกจำนวน 2ตู้ 2.ท่าเรือแหลมฉบัง มีการกักไว้จำนวน 80-90ตู้ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นเศษพลาสติก 3.ลาดกระบัง กักไว้จำนวน 37ตู้ ตรวจสอบพบเป็นเศษพลาสติก
ส่วนข่าวที่ออกมาว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะตู้ละกว่าแสนบาท เพื่อนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศ โฆษกกรมศุลกากร ชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน หากพบกระทำผิดจริงก็ต้องดำเนินการ แต่ตามข่าวไม่ได้พาดพิงกรมศุลกากร พร้อมยืนยันว่ากรมศุลกากรถือเป็นต้นเรื่องในการตรวจจับ จนเจอผู้กระทำผิดและดำเนินการขยายผลผู้ที่ฝ่าฝืน ส่วนในอนาคตประเทศไทยจะมีการงดนำเข้าขยะอิเล็กทริอนิกส์ และขยะพลาสติกเข้าประเทศหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงสถานการณ์และมาตรการดำเนินการปราบปรามสินค้าเกษตรประเภทกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ว่าได้ออกประกาศควบคุมการขนย้ายกระเทียม ที่นำเข้าจากต่างประเทศปี 2561 ตั้งแต่ 400 กิโลกรัมขึ้นไป ทั้งทางบกและทางทะเล หรือจากจังหวัดที่กำหนด 52 จังหวัด ต้องขออนุญาตขนย้ายและให้แจ้งปริมาณสถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้ากระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศในปี 2561 ผลการจับกุมในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 จับได้จำนวน 56ราย น้ำหนัก 118,315 กิโลกรัม มูลค่า 4,151,218 บาท โดยย้ำว่าเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวไทย และฝากเตือนประชาชนตามที่ในโลกออนไลน์ มีการโฆษณาขายสินค้าแบรนด์เนม และแอบอ้างด้วยการนำภาพของผู้บริหารกรมศุลกากร หรือภาพเหตุการณ์การจับกุม นำมาใช้โฆษณาสินค้าเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ กรมศุลกากร ระบุว่าไม่เป็นความจริง มีการแอบอ้างหลอกลวง โดยมิจฉาชีพทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และกรมศุลกากร จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป
ผู้สื่อข่าว:วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์