การตรวจการระบายน้ำ ในจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) โดยนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่ตรวจ บริเวณคูนายใช้ คูนายกิมสาย 1 เลียบถนนวิภาวรังสิต ฝั่งขาออก พร้อมกล่าวว่า หลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงปลายปี พ.ศ. 2560 ได้ตรวจสอบพบว่าบริษัทผู้รับเหมา ได้ปิดทางระบายน้ำ 11 จุด ตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก กรุงเทพมหานครจึงประสานงานกับกรมทางหลวงในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อหารือร่วมกันในวิธีการแก้ไขปัญหา เพราะการก่อสร้างบางแห่ง จำเป็นต้องมีเสาของสกายวอคลงไปบริเวณคูน้ำ ทำให้คูน้ำไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มที่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะยาว ต้องเพิ่มช่องทางการระบายน้ำให้ได้มากกว่าเดิม โดยฝั่งบล๊อคพื้นที่รอบเสาตอหม้อ เพื่อให้น้ำมีพื้นที่ไหลมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบ คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแบบชั่วคราว ที่พบว่า มีดิน เศษวัสดุการก่อสร้างลงไปในคูระบายน้ำ ทำให้ไม่สามารถไหลลงคลองเปรมประชากรได้ จำเป็นต้องลอกท่อ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบวันนี้ บริษัทผู้รับเหมาก็ดำเนินการลอกท่ออย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับแนวถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้า ที่พบเศษวัสดุลงไปในคูน้ำจำเป็นต้องลอกออก ซึ่งได้รับรายงานว่าดำเนินการเสร็จแล้ว
อย่างไรก็ตามในฝั่งถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้าจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งการระบายน้ำ เนื่องจากการก่อสร้างตอหม้อรถไฟฟ้า ส่งผลให้พื้นที่การระบายน้ำลดลง ซึ่งการลงพื้นที่ ก็ได้รับรายงานว่าดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถือว่าอยู่ในข้อตกลงที่เจรจากัน
สำหรับ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณแนวถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานครได้พัฒนาสถานีสูบน้ำในความผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จำนวน 14 แห่ง ที่อัตราการสูบน้ำ 59 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ปรับปรุงจนปัจจุบันมีอัตราการสูบน้ำ 79 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ ตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 จะเพิ่มกำลังเป็น 99 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเพิ่มการระบายน้ำในตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เกตุกนก ครองคุ้ม ผู้สื่อข่าว