หลังมีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย เรื่องการนำน้ำประปามาหุงข้าว จะทำให้เกิดสารไตรฮาโลมีเทน หรือ สารก่อมะเร็งนายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก กปน. นำการบริหารจัดการน้ำประปาปลอดภัย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาใช้กับการผลิตน้ำประปาทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ กระบวนการผลิต จนถึงบ้านผู้ใช้น้ำในพื้นที่ให้บริการของ กปน. ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, สมุทรปราการ รวมทั้งมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางด้านกายภาพ เคมี จุลชีวะ และมีการเฝ้าระวังสารไตรฮาโลมีเทน ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีค่าไตรฮาโลมีเทนรวมอยู่ในเกณฑ์น้ำดื่มของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น
กปน. มีการควบคุมปริมาณคลอรีน ที่เป็นสารป้องกันเชื้อโรคและรักษาคุณภาพน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งค่าคลอรีนอิสระปลายทางที่บ้านพักอาศัยของประชาชนจะมีค่าไม่น้อยกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร เพื่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรค โดยไม่มีผลต่อสุขภาพ ซึ่ง WHO กำหนดปริมาณสารคลอรีนในน้ำที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย คือ ไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อลิตร
นายสมชาย มนต์บุรีนนท์ รักษาการการแทนผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.). ยืนยันเช่นกันว่า น้ำประปาจาก กปภ. สะอาด ได้มาตรฐานสำหรับประชาชนใน 74 จังหวัด และยืนยันว่าสามารถใช้หุงข้าวได้ แม้ว่าสารไตรฮาโลมีเทน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งจะเกิดได้จากการทำปฏิกิริยาของคลอรีนกับสารอินทรีย์ในน้ำก็ตาม แต่สารอินทรีย์ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาได้ดี คือ กลุ่มที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก เช่น กรดฮิวมิก และกรดฟุลวิก ในขณะที่ข้าวสารหรือแป้งต่างๆ เป็นกลุ่มโมเลกุลขนาดใหญ่ จึงทำปฏิกิริยาได้ช้ามาก อีกทั้งคลอรีนต้องอยู่ในรูปของคลอรีนอิสระ ซึ่งในระบบประปามีการควบคุมการจ่ายคลอรีนให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการฆ่าเชื้อโรค
โดยก่อนจะมีการแถลงข่าว ทางผู้ว่าการกปน., รักษาการแทนผู้ว่า กปภ., ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร, ผู้อำนวยการศูนธรรมชาติบำบัดเวลเนสแคร์ ได้ร่วมกันหุงข้าวโดยใช้น้ำประปาจาก กปน. และน้ำประปาจาก กปภ. รวมทั้งใช้ข้าวจากสถาบันอาหารมาหุง เพื่อเป็นการยืนยันว่าน้ำประปาสามารถนำมาหุงข้าวได้ และมีความปลอดภัยด้วย
ขณะเดียวกันกปน. นำทีมปฏิบัติการนักวิทย์ชุดขาว ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์คุณภาพภายในสถาบันอาหารด้วย โดยผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า น้ำประปามีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย
ปภาดา พูลสุข ผู้สื่อข่าว