กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 2561 โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน พร้อมเปิดเผยว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความพร้อมในการรองรับปริมาณน้ำฝนในปีนี้ และ 4 เขื่อนหลักของประเทศไทย ก็มีความพร้อมเช่นเดียวกัน หากมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากกว่าปกติ จะปล่อยน้ำจากเขื่อนเข้าสู่แก้มลิงในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 12 ล้านไร่ และจะให้ประชาชนที่เสียสละพื้นที่สำหรับการทำเกษตร เป็นพื้นที่รับน้ำ ทำการประมง โดยมอบหมายให้กรมประมง เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา เพื่อมอบให้เกษตรกร ให้สามารจับขายได้ทันก่อนน้ำแห้ง ขณะเดียวกัน มอบหมายให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ รวมทั้งปลัดจังหวัด นายอำเภอ สื่อสารกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่เฝ้าระวังปีนี้ จะเป็นพื้นที่ทางน้ำไหล และพื้นที่เส้นทางร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่าน ได้แก่ อุบลราชธานี, แพร่, น่าน, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, พิจิตร, นครสวรรค์, พิษณุโลก
ด้านดร. ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมสถานการณ์น้ำเมื่อวานนี้ มีการเน้นย้ำให้เตรียมมาตรการต่างๆ อาทิ การตรวจสอบอาคารบังคับน้ำ หากพบว่ามีผักตบชวา ให้ประชาชนแจ้งมาที่เบอร์โทรศัพท์ของผู้รับผิดชอบได้ทันที รวมทั้งอาคารบังคับน้ำสายหลัก และเตรียมการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรต่างๆ ไว้ล่วงหน้าด้วย
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบำรุงรักษา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำ 447 แห่งทั่วประเทศ มีความพร้อมในการรับน้ำได้ร้อยละ 40 สำหรับการประชุมเมื่อวานมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลในด้านต่างๆ โดยเน้นย้ำเรื่องผักตบชวา ที่เป็นสาเหตุหลักในการกีดขวางเส้นทางน้ำ จะต้องมีการจัดเก็บให้ได้มากที่สุด มีการนำเครื่องจักร เครื่องมือในการบรรเทาน้ำท่วมไปยังพื้นที่ต่างๆ 6 แห่ง ทั่วประเทศ และมีมาตรการให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เลื่อนปฏิทินการทำนาขึ้นมา 1 เดือน เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูฝน ส่วนพื้นที่เฝ้าระวัง เป็นพื้นที่ที่มีสถิติน้ำท่วมทุกปีอยู่แล้ว
สำหรับการเตรียมการช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่ฝนจะทิ้งช่วง ดร.ทวีศักดิ์ ระบุว่า ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรลดการใช้น้ำในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว และยืนยันว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมน้ำไว้เพียงพอในการอุปโภค บริโภค อย่างไรก็ตาม ขอฝากประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข