การตรวจพบโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการรับกำจัดขยะโดยผิดกฎหมายในประเทศไทย ในพื้นที่ย่านลาดกระบัง และจ.ฉะเชิงเทรา ด้วยการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากเกินสิทธิ์ ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งการลักลอบนำเข้าด้วยการแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าหน้าที่ ด้านพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือ รองผบ.ตร. พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงเข้าตรวจสอบบริษัทนำเข้าขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือเอกชน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังจากการตรวจพบความผิดปกติ จากการตรวจสอบพบตู้คอนเทนเนอร์ที่กระทำผิดรวม 7ตู้ 2บริษัท ต้นทางจากญี่ปุ่น และฮ่องกง
จุดแรกเป็นของ บริษัท ฮ่องเต้ พลาสติก จำกัด ตรวจพบนำเข้าจำนวน 5ตู้คอนเทนเนอร์ โดยแจ้งนำเข้าว่าเป็นพลาสติก แต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นตู้เกมเก่าที่ทำให้เสียหายแต่ยังมีสายไฟและแผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ปะปนจำนวนมาก
ส่วนตู้ของบริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์เวิลด์ จำกัด ตรวจพบนำเข้า 2ตู้คอนเทนเนอร์ โดยแจ้งในใบขนส่งขนว่าเป็นเศษพลาสติก ซึ่งจากการเอกซเรย์พบสิ่งผิดปกติที่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากเครื่องเกมเก่าและสายไฟแผงวงจรอิเลกทรอนิกส์เช่นเดียวกัน
รองผบ.ตร.ชี้ว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรฐานสำแดงเท็จ ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ยื่นเอกสารเท็จ เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัดว่าด้วยการนำเข้า-ส่งออก ไม่มีใบอนุญาต หรือของที่ไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง รวมทั้ง อันเป็นความผิดตามนัยมาตรา 202, 203, 204 และ มาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10ปี โทษปรับสูงสุด 5แสนบาท จากเดิมที่ใช้โทษปรับเพียง 2หมื่นบาท แล้วผลักดันกลับต้นทาง หลังจากนี้กรมศุลกากร จะดำเนินการแจ้งความ และอายัติของกลางทั้งหมด
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงตรวจสอบที่ห้องควบคุมการเอกซเรย์ ภายในสำนักงานตรวจศุลกากร ซึ่งจะมีเครื่องที่ตรวจในมุมต่างๆ รอบตู้คอนเทนเนอร์เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับใบนำเข้า แล้วประเมินถึงความเสี่ยง ที่ดูทั้งน้ำหนัก และสี สำหรับสีที่เอกซเรย์จะแสดงความแตกต่าง เช่น สีเขียวคือประเภทพลาสติก ส่วนสีน้ำเงินเข้มจนถึงดำ คืออุปกรณ์ที่เป็นโลหะ หรือเศษอิเล็กทรอนิกส์ และลงตรวจตู้คอนเทนเนอร์ตามใบเอกซเรย์ที่พบความผิดปกติอีกจำนวน 4ตู้ โดย 2ตู้แรกเป็นขยะอิเลกทรอนิกส์ตามอนุสัญญาบาเซล จึงไม่มีความผิด ส่วนอีก 2ตู้ระบุว่าเป็นเศษทองแดงเพื่อนำมาแยกผลิตเป็นแผงวงจรต่างๆ ที่ไม่มีวัตถุอันตราย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเก็บชิ้นส่วนนำกลับไปตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง
พล.ต.อ.วิระชัย รอง ผบ.ตร. ย้ำว่า ยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติม รวมทั้งตรวจสอบเส้นทางจนถึงปลายทาง ที่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสังเกตการณ์เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทที่ฝ่าฝืนทั้งหมด และผลักดันขยะอิเลกทรอนิกส์นี้กลับไปต้นทาง หรือจำหน่ายให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตกำจัดต่อไป โดยให้บริษัทผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผู้สื่อข่าว