ซีเอ็นเอ็นอ้างข้อมูลจากบริษัทเบเคอร์ ฮิวช์ส ผู้ให้บริการเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ว่า ราคาน้ำมันดิบพุ่งพรวดขึ้นไปเลยระดับเกิน 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 ปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่รู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดราคาน้ำมันจึงขยับขึ้นในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ แต่มาถึงระยะนี้ปรากฏว่าราคาน้ำมันดิบเริ่มร่วงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบตามตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯร่วงเกือบร้อยละ 10 มาอยู่ที่ 66.50 ต่อบาร์เรล ลดจาก 73 ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ที่ใช้อ้างอิงทั่วโลก ลดร้อยละ 6 มาอยู่ที่ 76 ดอลลาร์ หลังการพุ่งไปอยู่ที่ระดับสูงกว่า 80 ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อน
การปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน มีขึ้นหลังนายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้นำองค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก(โอเปก) เปิดเผยในเวทีประชุมแห่งหนึ่งในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะเริ่มพูดคุยอย่างจริงจังกับรัสเซีย และสมาชิกอื่นๆของกลุ่มโอเปกเอง ให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อช่วยลดความหวั่นวิตกในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกว่าอาจจะไม่พอเพียง โดยกลุ่มโอเปกและรัสเซียจะนัดประชุมกันในกรุงเวียนนา ออสเตรียในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เพื่อหารือเรื่องการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการผลิตน้ำมันดิบตามที่แต่ละประเทศกำหนดไว้และใช้มาตรการนั้นเรื่อยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
นายอัล-ฟาลีห์ ระบุว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดจะร่วมพิจารณามาตรการที่จะช่วยทำให้ตลาดน้ำมันดิบของโลกมีเสถียรภาพ ที่สำคัญคือการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ทดแทนปริมาณน้ำมันส่วนที่ขาดไปจากการที่เวเนซุเอลาและอิหร่าน ไม่สามารถผลิตน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดโลกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศและการถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงคือการที่แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2559 เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯมุ่งจะทำกำไรจากราคาที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง