ครม.ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้ผู้ประกันตน พร้อมเร่งรัดแก้หนี้นอกระบบ

28 พฤษภาคม 2561, 15:10น.


หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้อนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอปรับปรุงร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการจ่ายผลประโยชน์ทดแทน ในกรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิมที่กำหนดว่าผู้ที่เป็นผู้เอาประกันตนจะได้รับเงินตอบแทน 400 บาทต่อบุตร 1 คน ให้ปรับเป็น 600 บาท ต่อบุตร 1คน มีผลย้อนหลัง 1 ม.ค.2561 รวมทั้งจากเดิมที่กำหนดให้จ่ายเงินสำหรับผู้มีบุตรไม่เกิน 2 คน อายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ปรับแก้ไขเป็น จ่ายให้ไม่เกิน 3 คน อายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์  โดยมีผลย้อนหลัง ตั้งแต่ 20 ต.ค.2558



ส่วนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบ ได้รายงานว่าจะรวบรวมข้อมูลผู้เป็นหนี้นอกระบบที่เคยสำรวจไปแล้ว มาประมวลกับผลการสำรวจใหม่ เพื่อดูพัฒนาการ จำนวนผู้มีหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น น้อยลง หรือคงตัว และเป็นกลุ่มใดที่เป็นหนี้นอกระบบจำนวนมาก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่จะตรวจสอบข้อมูลที่ได้ทั้งในระดับเจ้าหนี้ ลูกหนี้และมูลหนี้ อย่างละเอียด ส่วนในระยะเวลา 6 เดือน จะติดตามรับข้อมูลจากพื้นที่อาศัยประชาคมหมู่บ้านผ่านโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และดำเนินแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึง



ที่ประชุมครม.อนุมัติแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หลักการสำคัญให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันหรือ (กพอ.) มีอำนาจในการปรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และกำหนดมาตราการเยียวยาต่างๆให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งตามสมควร เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบราชการพลเรือนทั่วไป และระเบียบข้าราชการครูบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มีมาตรฐานที่เหมือนกัน โดยในสถาบันอุดมศึกษา ที่ยังเป็นหน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาที่ออกจากระบบราชการไปแล้ว แต่ยังมีครูที่เป็นราชการอยู่ ก็ถือว่าอยู่ในกรอบกฎกติกาใหม่นี้



ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง ออกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายเงินนอกระบบงบประมาณ พลโทสรรเสริญ กล่าวว่า ไม่กระทบกับกระทรวงสาธารณสุขหรืออาชีพแพทย์ พยาบาล เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลังอยู่แล้ว แต่การจ้างพนักงานในหน่วยงานอื่น ก็จะต้องนำระเบียบนี้ไปใช้ เนื่องจากต้องการให้ในอนาคต ไทยมีจำนวนข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของรัฐที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป แต่ระหว่างนี้ ผู้ที่ได้รับการจ้างก่อนระเบียบดังกล่าวจะออกมา ก็ยังได้รับค่าจ้างตามเดิมจนกว่าจะครบสัญญาจ้าง



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X