ชุมชนภาคเหนือ จ.ลำพูน จัดโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ เพิ่มความปลอดภัยทางถนน

24 พฤษภาคม 2561, 17:53น.


การลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน ในโครงการ”ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ” การจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนภาคเหนือ ณ ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน นำโดยนายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  พร้อมด้วยนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และภาคีเครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนงานป้องกันอุบัติเหตุให้เป็นรูปธรรมเพื่อขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่น





ครูนิภาพ​ร​ ปาระมี​ ครูประจำศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัดแม่แรง ต.แม่แรง จ.ลำพูน กล่าวว่า ปัจจุบันที่ศูนย์ฯ จะมีนักเรียน 49 คน​ แบ่งเป็นช่วงอายุ 2-3​ ปี​ จำนวน 20คน​ 3ปี​ ขึ้นไป​ จำนวน 29คน ความรู้ด้านวินัยและความปลอดภัยทางถนน ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้ต้องสอดแทรกในวิชาเรียนต่างๆ ซึ่งปกติเด็กเล็กจะเรียนรู้ได้ไม่มาก ต้องใช้การสอนซ้ำๆเพื่อให้เกิดการจดจำ โดยเริ่มแรกเกิดจากการจัดเวทีอบรม​เชิญผู้ปกครองเข้ารับการอบรมจากวิทยากรด้านจราจร​ ซึ่งช่วงแรกๆนั้นจะยังไม่ค่อยทำตาม ทำให้เกิดการทำข้อตกลงร่วมกัน​โดยให้ผู้ปกครองเป็นคนกำหนดเกณฑ์ ที่มีมาตรการปรับผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยมารับ-ส่งบุตรหลาน คนละ​ 10 บาท​ และนำเงินที่ได้ไปพัฒนาสื่อให้เด็กได้เรียนรู้





ขณะนี้ ผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการสอดแทรกความรู้ด้านวินัยจราจร เริ่มจากการให้ความรู้พื้นฐานตั้งแต่สัญญาณไฟจราจร สัญลักษณ์ต่างๆ ผ่านกิจกรรมวาดรูป ระบายสี ถาม-ตอบ การต่อจิกซอว์ หุ่นคนจำลองใส่หมวกนิรภัย ก่อนจะให้ลงมือปฎิบัติจริงบนสนามจำลอง ที่นำป้ายจราจรที่มีสัญลักษณ์ต่างๆ มาให้นักเรียนฝึกปฎิบัติตาม ทั้งป้ายหยุด ป้ายเขตโรงเรียน ป้ายห้ามแซง และสัญญาณไฟที่มีครูเป็นผู้กำหนด ด้วยการให้นักเรียนปั่นรถจักรยานและสวมหมวกนิรภัย ทำตามป้ายจราจร ตั้งแต่ต้นทางจนถึงจุดสิ้นสุด





คุณสมศักดิ์ แก้วกันตี ผู้ปกครองที่มาส่งบุตรหลาน เปิดเผยว่า ปกติในชุมชนจะเกิดอุบัติเหตุบ่อย เช่น รถลื่นไถล ทางโค้งเยอะ แต่ก่อนเคยเกิดเหตุรุนแรงจนมีคนเสียชีวิต เด็กบาดเจ็บบ่อยครั้ง เมื่อทางศูนย์ฯทำโครงการเช่นนี้ ตนเองก็เห็นด้วย เพราะรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย





คุณกชกร​ ชิณะวงศ์​  นักวิชาการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น​(ภาคเหนือ) ระบุว่า​ เด็กเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ปกครองและชุมชน​  การรณรงค์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ​ ต้องสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตร​ของเด็กเล็กด้วย​ โดยเฉพาะการสื่อสารให้เหมาะสมกับช่วงอายุ เช่น เด็กเล็กที่เน้นสื่อสารผ่านสีสัญญาณ​ไฟจราจร​ สีเขียว​ เหลือง​ แดง​ เมื่อโตขึ้นก็ใช้การเรียนรู้จากการปั่นจักรยาน​ ได้ทั้งออกกำลังกาย และเรียนรู้ป้ายสัญลักษณ์จราจรไปพร้อมๆกัน สำหรับผลของการดำเนินโครงการมาตลอด 1ปี ที่ผ่านมา เริ่มเห็นเด็กและ​ผู้ปกครองสวมหมวกนิรภัยมากถึงร้อยละ​ 80 ส่วนอีกร้อยละ​ 20 ที่เหลือนั้นจะต้องพยายามขยายผลต่อไป เพื่อลดสถิติของผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งในหมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง





 



ผู้สื่อข่าว: วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์



 



 

ข่าวทั้งหมด

X