ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นายปีเตอร์ โฟลีย์ และนายเกร็ก ฮูด จากสำนักงานความปลอดภัยด้านการคมนาคมของออสเตรเลีย(เอทีเอสบี) ในฐานะหัวหน้าทีมสอบสวนกรณีเครื่องบินโบอิงลำหนึ่งของมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370 สูญหายเมื่อ 4 ปีก่อน ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมมคณะกรรมาธิการของรัฐสภาออสเตรเลีย โดยปกป้องข้อสันนิษฐานที่ว่า การสูญหายของเครื่องบินลำนั้นอาจจะเป็นผลมาจากอุบัติเหตุคือการตกในมหาสมุทรอินเดีย หลังการบินไปจนกระทั่งเชื้อเพลิงหมด พร้อมทั้งคาดว่านายซาฮารี อาหมัด ชาห์ กัปตันของเที่ยวบินอาจจะมีอาการหน้ามืดหมดสติในช่วงที่เครื่องบินตก
ที่ประชุมได้ซักถามพนักงานสอบสวนทั้งสองคนในหลายประเด็น รวมถึงประเด็นที่ว่า กัปตันของเที่ยวบินนั้นอาจจะมีเจตนาทำให้เครื่องบินตก เพื่อทำให้คนบนเครื่องบินเสียชีวิตทั้งหมดหรือไม่ ด้านนายแลร์รี แวนซ์ อดีตพนักงานสอบสวนกรณีอุบัติเหตุทางเครื่องบินของแคนาดาให้สัมภารณ์ในรายงานซิกตี้ มินิท ของสถานีโทรทัศน์ออสเตรเลียเมื่อต้นเดือนนี้ว่า กัปตันซาฮารีอาจจะปิดระบบติดตามหรือควบคุมการสื่อสารอัตโนมัติของเครื่องบิน พร้อมทั้งลดความดันอากาศบนเครื่องบิน เป็นเหตุให้ผู้โดยสารหมดสติ ก่อนที่เครื่องบินตก ระบุว่ากัปตันอาจจะฆ่าตัวตายเนื่องจากเหตุผลต่างๆเช่นคือความล้มเหลวในชีวิตสมรส
ด้านนายริชาร์ด เกสต์ นักข่าวด้านการบินพลเรือนของซีเอ็นเอ็น และนักเขียนหนังสือชื่อว่า เที่ยวบินมรณะเอ็มเอช 370 ที่สูญหาย ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการฆ่าตัวตายของนักบิน เกิดขึ้นน้อยมาก และไม่มีหลักฐานยืนยันว่ากัปตันซาฮารีฆ่าตัวตาย ซึ่งสอดคล้องความเห็นของน.ส.ซากินัป ชาห์ น้องสาวของกัปตันที่ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นในปี 2559 ว่าข้อสันนิษฐานที่ว่านายซาฮารีมีเจตนาทำให้เครื่องบินตก เพื่อฆ่าคนบนเครื่องบิน เป็นการกุเรื่องเท็จขึ้นมากล่าวหาพี่ชายของเธออย่างไม่เป็นธรรม สำหรับเครื่องบินดังกล่าว สูญหายไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 พร้อมผู้โดยสาร 239 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ขณะบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มุ่งหน้ากรุงปักกิ่ง ประเทศจีน