พรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นเอกสารจัดตั้งพรรคต่อกกต.ย้ำนายกฯไม่ควรสังกัดพรรคการเมือง

15 พฤษภาคม 2561, 12:51น.


พรรคประชาชนปฏิรูป นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าที่หัวหน้าพรรค นำคณะผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ยื่นเอกสารแจ้งเตรียมการจัดตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พร้อมทั้ง เปิดเผยว่า ได้นำเอกสารจำนวน 9,000 หน้าประกอบด้วยรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรค 1,441 คน และเอกสารต่างๆ มายื่นแจ้งจัดตั้งพรรค มีทุนประเดิมแล้ว 1,441,000 บาท คาดว่าภายใน 4 เดือน จะหาสมาชิกได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อ และจะมีสมาชิกพรรคครอบคลุมทุกจังหวัด ส่วนการหาสมาชิกเพิ่มต้องรอการปลดล็อคคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก่อน ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งจำนวนเท่าใด เชื่อว่า จะได้คะแนนมาก เพราะจะส่งผู้สมัครลงทุกเขต ส่วนการเลือกตั้งระบบไพรมารีโหวต เชื่อว่าจะทำทัน ส่วนระบบเลือกตั้ง มองว่า ออกแบบได้ดี เชื่อว่าจะทำให้คะแนนเสียงของประชาชนมีค่ามากขึ้น และช่วยทำให้การเลือกตรงใจผู้เลือกมากที่สุด



สำหรับนโยบายของพรรค ได้กำหนดไว้ 3 ข้อ ซึ่งจะใช้เฉพาะช่วง 5 ปีแรกของการเปลี่ยนผ่านเท่านั้น ประกอบด้วย การเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจรัฐ ผ่านการเสนอให้มีการจัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประจำจังหวัดในทุกจังหวัด นโยบายที่สองคือ การปฏิรูปพระสงฆ์และการจัดการทรัพย์สินของวัดด้วยการเสนอร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับธรรมาธิปไตย นโยบายที่สาม คือ การปฏิรูปนักการเมืองและพรรคการเมืองให้เป็นเครื่องมือของประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนนโยบายด้านอื่นๆให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ





นายไพบูลย์ เชื่อมั่นว่า พรรคประชาชนปฏิรูป จะเป็นเสาหลักที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบการเมืองไทยและจะทำให้พรรคการเมืองอื่นๆหันมายึดตามหลักของพรรคตัวเองที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง สนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎหมาย ไม่สนับสนุนการใช้กำลังหรือการชุมนุมต่อไป ยืนยัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะที่จะเป็นนายกฯ เพราะเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ นายกฯไม่ควรจะมาจากการสังกัดพรรคการเมืองหรือจากระบบการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้



กรณีที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ทำการดูดส.ส.พรรคอื่นให้มาสนับสนุนตัวเอง มองว่า เป็นวาทกรรมของพรรคการเมืองที่ต้องการทำลายพล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า เหตุนี้ตัวเองจึงต้องมาจัดการปฏิรูปการเมือง ขณะที่ ข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติมองว่าไม่เห็นด้วยกับนิยามดังกล่าว แต่อยากเห็นการร่วมมือกันของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความไม่ขัดแย้งกัน อาจเป็นการใช้ชื่อว่ารัฐบาลเสียงข้างมากพิเศษ ทั้งนี้ ยังมองว่าหลังเลือกตั้ง นักการเมือง ควรฟังเสียงของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะส.ว.จะช่วยเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งได้ และหวังว่าการเมืองจะเดินหน้าร่วมมือกันไม่กลับไปสู่การที่พรรคการเมืองใช้อำนาจแบบเดิมๆเหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อีก



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร



 

ข่าวทั้งหมด

X