การก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สภาพอากาศ, การหันมาทำการอุตสาหกรรมแทนเกษตรกรรม รวมถึงในพื้นที่จ.อยุธยา มีแหล่งกักเก็บน้ำไม่ถึงร้อยละ 30 แต่มีปริมาณฝนตกลงมาถึงร้อยละ 26 ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ศึกษาแก้ปัญหา และโครงการคลองระบายน้ำนี้ก็ถือเป็นหนึ่งใน 9 แผนงานหลักของการพัฒนาการรับมืออุทกภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆและภาคประชาชน เตรียมความพร้อมก่อสร้าง สำรวจออกแบบ และหาที่ดินในการสร้างโครงการ โดยวันนี้ได้มาพบกับผู้นำท้องถิ่นหลายภาคส่วน เช่น นายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา, กำนัน, รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่ากรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากที่สุด รวมทั้งจะน้อมนำพระราชดำรัสพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในหลัก "เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา" มาเป็นแบบอย่างของการดำเนินโครงการ และยืนยันว่าจะให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ยืนยันว่า ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการจะได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด ซึ่งวันนี้ก็ได้รับฟังเกี่ยวกับการสร้างคลองระบายน้ำหลากหลายเรื่อง เช่น การสร้างถนนคันคลองของโครงการที่ท้องถิ่นให้ความเห็นว่ากรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรออกแบบให้รองรับน้ำหนักของรถบรรทุกได้ หรือการสร้างอาคาร, ประตูระบายน้ำ และหลังคาต่างๆที่ควรออกแบบให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สำคัญอีกอย่างที่ท้องถิ่นฝากมาให้พิจารณาคือ บริเวณริมคลองอาจมีจุดใดจุดหนึ่งหรือหลายจุดที่จัดให้เป็นพื้นที่ลานชุมชน มีกิจกรรมสันทนาการให้ประชาชนมาพักผ่อนได้ ข้อแนะนำทั้งหมด กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมรับและจะนำไปพิจารณา โดยสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่หรือส่วนรวม กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะขับเคลื่อนเร่งรัดเต็มที่ให้เร็ว ทั้งนี้ คาดว่า โครงการคลองระบายน้ำนี้จะเริ่มสร้างได้ปี 2562 ใช้เวลาสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จปี 2565 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 14,000 ล้านบาท โดยตัวโครงการจะประกอบด้วยอาคาร 11 แห่ง และประตูระบายน้ำสำหรับปิดเปิดอีก 2 แห่ง บริเวณบางบาล และบางไทร
สำหรับประโยชน์จากตัวโครงการ จะสามารถระบายน้ำส่วนเกินได้มากขึ้น 1,200 ลูกบาศก์เมตร และหลังฤดูแล้ง จะทำการปิดประตูทั้งสองด้านเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน โดยคลองจะเก็บน้ำเพิ่มได้อีกประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเป็นน้ำต้นทุนในการเกษตรได้อีกกว่า 220,000 ไร่ ขณะเดียวกัน จะมีถนนคันคลองตลอด 2 ฝั่ง เพื่อใช้เป็นที่สัญจร ซึ่งจะทำให้สัญจรได้ทั้งทางบกและน้ำ รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอีกด้วย ซึ่งวันนี้ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปศึกษาพื้นที่จริงที่จะมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำด้วย
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง ยืนยันว่าในเขตพื้นที่ชลประทานน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคแน่นอน โดยปริมาณน้ำจากจำนวนอ่างเก็บน้ำรวม 440 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ มีความจุรวม 48,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64 จากความจุทั้งหมด โดยมีน้ำใช้การได้ 25,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก มีความจุอยู่ 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุทั้งหมด และมีน้ำใช้การได้ 7,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ทั้งนี้ จะยังมีฝนที่จะตกลงมาอีก 4 ช่วง ทำให้จะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำของพื้นที่ชลประทานเพิ่มอีก 420 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยืนยันว่าน้ำเพียงพอแน่นอน ส่วนนอกเขตพื้นที่ชลประทานก็จะได้น้ำฝนช่วย และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดเตรียมเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องสูบน้ำ ไว้ทั่วประเทศแล้ว
ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร