สถิติการเกิดอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของ 7 วันอันตราย มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 307 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ศพ และผู้บาดเจ็บ 336 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดประจำวันคือจ.นครศรีธรรมราช 15 ครั้ง และยังเป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด 16 ราย แต่จ.สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดประจำวันจำนวน 5 ศพ
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดมาจากการขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.69 รองลงมาคือ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.73 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.89 โดยรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดถึงร้อยละ 82.35 รองลงมาคือ รถปิคอัพ ทั้งนี้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกว่าร้อยละ 66 เกิดในทางตรง และร้อยละ 42.35 เกิดบนถนนของกรมทางหลวง โดยช่วงเวลา 16.00-20.00น. เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ทั้งนี้ ตลอดวันมีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 146,589 คน สาเหตุอันดับหนึ่งมาจากไม่ใส่หมวกนิรภัย รองมาคือไม่มีใบขับขี่
ส่วนเมื่อรวมยอด 7 วันอันตราย พบว่าเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 3,724 ครั้ง ยอดผู้เสียชีวิตรวม 418 ศพ ผู้บาดเจ็บ 3,897 คน เมื่อเทียบกับปีที่แล้วพบว่าปีนี้สถิติเยอะขึ้นกว่าทุกด้าน ปีนี้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าปีที่แล้วจำนวน 34 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 28 ศพ และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 89 คน โดยปีนี้จ.เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดจำนวน 133 ครั้ง และยังเป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุดจำนวน 142 คน
ทั้งนี้ จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจำนวน 20 ศพ สาเหตุที่จ.นครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด นายสุธี คาดว่าส่วนหนึ่ง เพราะเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่ประชาชนไปกันมาก ทั้งนี้มี 4 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตตลอดช่วงเทศกาล คือจ.ระนอง, จ.หนองคาย, จ.สมุทรสงคราม และจ.หนองบัวลำภู และมี 141 อำเภอทั่วประเทศที่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย
ส่วนกรุงเทพฯมี 43 เขตที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดมาจากดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.28 รองมาคือขับเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.50 โดยรถมอเตอร์ไซด์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดตลอดเทศกาลถึงร้อยละ 79.85 รองมาคือ รถปิคอัพ ร้อยละ 7.17 ถนนเส้นตรงเป็นถนนที่เกิดเหตุมากที่สุด ร้อยละ 64.66 รองมาคือถนนในหมู่บ้าน ร้อยละ 37.57 โดยช่วงเวลา 16.00-20.00น. เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ตลอด 7 วัน เจ้าหน้าที่เรียกตรวจรถไปกว่า 5,600,000 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 1,138,219 ราย
ส่วนการดำเนินการตามมาตรการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สามารถตรวจจับผู้ทำผิดได้ 300,000 กว่าคน ยึดใบขับขี่ได้ 40,289 ราย และยึดรถได้มากกว่า 16,000 คัน มีรถเข้าและออกจากกรุงเทพมหานคร 8,700,000 กว่าคัน และมีผู้เดินทางออกจากกรุงเทพฯตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์กว่า 14 ล้านคนเศษ ยอมรับว่าการเกิดอุบัติเหตุยังอยู่ในอัตราที่สูงและมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะระวังเข้มงวดต่อไปตลอดทั้งปีตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อลดการสูญเสียของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนว่าขอให้ลงข้อมูลความปลอดภัยในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนสิ่งใดที่รัฐบาลคิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้จะนำมาปรับแก้ต่อไป
ด้านนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงได้เรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะตลอดเทศกาลกว่า 112,000 คัน พบรถบกพร่อง 609 คัน พ่นไม่ให้ใช้รถทันที 16 คัน และเรียกตรวจคนขับรถ 172,871 คน พบบกพร่อง 271 คน เปลี่ยนคนขับรถทันทีจำนวน 7 คน โดยกระทรวงจะนำผลที่ได้ไปประมวลผลหาวิธีแก้ต่อไปในเทศกาลหน้า
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร