กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดป้ายเฝ้าระวังฉลามหัวบาตรกัด หลังนทท.นอร์เวย์บาดเจ็บ
3073
https://www.js100.com/en/site/news/view/54576
COPY
17 เมษายน 2561, 22:53น.
กรณีนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ถูกสัตว์ทะเลกัดที่บริเวณเท้า เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน บริเวณหาดน้อย เขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันนี้วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๑ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(กรม ทช.)โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนกลาง ร่วมกับสำนักงานบริหาร ทช.ที่๔ (เพชรบุรี) เข้าตรวจสอบพื้นที่และเยี่ยมผู้บาดเจ็บ พบว่านักท่องเที่ยวรายดังกล่าวได้กระโดดจากแหลมหินลงมายังทะเล ซึ่งน้ำบริเวณดังกล่าวลึกประมาณ ๑๕ เมตร อยู่ห่างจากหาดประมาณ ๑๐๐ เมตร น้ำค่อนข้างขุ่น ต่อมารู้สึกว่าถูกสัตว์บางชนิดกัดที่บริเวณเท้าซ้าย จึงพยายามว่ายพยุงตัวกลับมายังชายหาด และได้รับการช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
จากการตรวจของแพทย์พบว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นคล้ายรอยฟันฉลาม แผลค่อนข้างลึก เอ็นบางเส้นฉีกขาดและกระดูกส้นเท้าแตก ประกอบกับมีรายงานการพบฉลามในพื้นที่ดังกล่าวจากสื่อ facebook พบว่าบริเวณดังกล่าวมีการพบปลาฉลามหัวบาตร (Bull Shark, Carcharhinus lucas) ความยาวไม่เกิน ๑ เมตร (ปลาฉลามวัยเด็ก แรกเกิดมีความยาวประมาณ ๘๐ ซม.) จากการประสานกับ ดร,ทัศพล กระจ่างดารา หัวหน้ากลุ่มงานประเมินสภาวะทรัพยากรการประมง กรมประมง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลาฉลามและปลากระเบน สันนิฐานว่าฉลามอาจกัดเนื่องจากทดสอบว่าเป็นอาหารหรือไม่ หรือเกิดจากการตกใจขณะที่นักท่องเที่ยวกระโดดลงน้ำ ไม่ใช่การกัดเพื่อกินเป็นอาหาร
ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีกทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และกรม ทช. จึงมีมาตรการเฝ้าระวังการเกิดเหตุ โดยการติดป้ายประกาศเตือนเป็นภาษาไทย อังกฤษ และจีน และเฝ้าระวังในพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์และประเมินเพื่อการติดตั้งตาข่ายป้องกันปลาฉลามต่อไปทั้งนี้ ปลาฉลามหัวบาตร เป็นปลาฉลามที่สามารถพบได้ตลอดตามแนวชายฝั่งทั่วโลก กินปลาขนาดใหญ่เป็นอาหาร มีนิสัยที่ค่อนข้างดุร้ายกว่าปลาฉลามชนิดอื่น โดยเฉพาะช่วงหิวและฤดูผสมพันธุ์ ปลาฉลามชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด มีการผสมพันธุ์ในบริเวณทะเลเปิดและเข้ามาออกลูกบริเวณชายฝั่ง โดยลูกปลาฉลามจะหากินบริเวณชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณแนวโขดหิน แต่ในประเทศไทย จัดว่าพบปลาฉลามหัวบาตรน้อยมาก มีสถานะการอนุรักษ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List category abbreviation จัดเป็นกลุ่มเกือบอยู่ในข่ายเสี่ยง (NT) เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กำลังถูกคุกคามในอนาคต ถึงแม้ในปัจจุบันอาจจะยังไม่ถูกคุกคาม โดยทางกรมประมงได้ขึ้นบัญชีปลาฉลามชนิดนี้ ในบัญชีห้ามนำเข้าส่งออกของกรมประมงปี พ.ศ.๒๕๕๘
ข่าวทั้งหมด