หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า จะกระทบกับการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นัดคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และพรรคการเมืองคุยกันถึงกำหนดวันเลือกตั้งและการปลดล็อคกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นอน และจะต้องเลื่อนการหารือออกไปไม่ต่ำกว่า 1 เดือนเศษ เนื่องจาก คสช.เคยระบุไว้ว่าจะมีการหารือกันต่อเมื่อร่างดังกล่าวประกาศใช้ ซึ่งการส่งร่างตีความจะส่งผลให้กระบวนการประกาศใช้ร่างเลื่อนออกไปไม่ต่ำกว่า 1 เดือน เพราะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาวินิจฉัยพร้อมระบุว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 มีปัญหาในตัวเอง ซึ่งคสช.ไม่ควรเพิกเฉยมติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีคำวินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าคสช.แก้คำสั่งที่มีปัญหาอยู่ให้เรียบร้อย พร้อมเปิดทางให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมและนัดคุยกับพรรคการเมืองได้เมื่อไร เมื่อนั้นก็จะรู้ว่าผลต่างๆที่กำหนดมาจะไปกระทบกับการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าการจะเลือกตั้งเมื่อใด อยู่ที่หัวหน้าคสช.เป็นผู้กำหนด ส่วนการอ้างว่าต้องเลื่อนการบังคับใช้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้ง มองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น คสช.จะยกเลิกก็ได้ เพราะพรรคการเมืองเตรียมตัวทันอยู่แล้ว ซึ่งถ้ายกเลิกจะทำให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้นว่าจะมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ มองว่าคสช.จำเป็นต้องจัดการข้อกฎหมายต่างๆที่ยังมีปัญหาให้ได้ข้อยุติ และทำทุกอย่างชัดเจน
ส่วนพรรคการเมือง ยอมรับว่ามีพรรคการเมืองใหม่มากขึ้น ส่วนพรรคการเมืองเก่า แม้พรรคต่างๆจะยืนยันสมาชิกเก่าที่มีอยู่ได้แล้ว แต่ก็ยังทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะพรรคการเมือง ยังไม่สามารถทำกิจกรรมพรรคและหาสมาชิกใหม่ได้ เนื่องจากคสช.ไม่ปลดล็อค ส่วนที่กกต.เรียกไปคุยว่าถ้าอยากจะทำกิจกรรมใดๆให้ขอคสช.เอง พรรคการเมือง มองตรงกันว่าเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะถ้ามีการขอ แล้วพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ อีกพรรคได้ หรือขอพร้อมกันแต่อนุมัติให้ทำกิจกรรมไม่พร้อมกัน ก็จะเกิดเป็นข้อเปรียบเทียบและถูกตีความว่าคสช.ไม่ยุติธรรมอีก แนะนำว่าถ้าคสช.อยากปฏิรูปการเมือง ควรเลิกเอาพรรคการเมืองไปผูกกับการเลือกตั้ง เพราะเป็นแนวคิดที่ผิด แต่ถ้ามองว่าพรรคการเมืองต้องได้รับโอกาสทำกิจกรรมและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก็จะเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองเอง ซึ่งอยากให้คสช.กลับไปทบทวนให้ชัดเจนในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร