ระวังซูเอี๋ย! ปธ.กรธ.เผยร่างพรป.ปปช.กำหนดเวลาไต่ส่วนคดีทุจริต 2ปี ย้ำต้องรอบรอบ

18 กันยายน 2560, 16:39น.


การจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การร่างพรป.ฉบับนี้ ยังเป็นงานยาก และบทบัญญัติที่เขียนนั้นต้องรื้อและทบทวนซ้ำไปมาหลายรอบ เพราะการวางกลไกป้องกันการทุจริตต้องทำให้เป็นผลสำเร็จ ขณะเดียวกันกลไกดังกล่าวต้องไม่สร้างปัญหา



ทั้งนี้บทบัญญัติที่ กรธ. จัดทำต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) อาทิ กำหนดระยะเวลาให้ไต่สวนคคีที่มีกรอบเวลาชัดเจน ไม่เกิน 2 ปี ทุกกรณี และหากพบว่าใช้เวลาเกินกว่า 2 ปี คนที่รับผิดชอบอาจต้องถูกสอบสวนกระบวนการทำงานและอาจจะได้รับบทลงโทษ , การไต่สวนคดี ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบ แต่จะให้ใช้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ หลังจากที่พบว่า การทำงานรูปแบบตั้งอนุกรรมการฯ นั้นทำให้การตรวจสอบล่าช้า



สำหรับ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนั้น เบื้องต้นจะให้คงไว้ แต่ปรับบทบาทและหน้าที่ จากเดิมทำหน้าที่สอบสวน ไปเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในพื้นที่ รวมถึงเป็นหน่วยงานที่รับแจ้งบัญชีทรัพย์สิน เป็นต้น ขณะที่การสอบสวนคดีกำหนดให้อยู่ที่ ป.ป.ช.ประจำภาค ที่ ป.ป.ช. จะเป็นผู้แต่งตั้ง เหตุผลสำคัญเพราะการทุจริตในพื้นที่หรือในจังหวัดไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นหากมีประเด็นร้องเรียนเรื่องทุจริตเกิดขึ้น ป.ป.ช.ส่วนกลางสามารถมอบหมายให้หน่วยงานระดับภาคเข้าไปสอบสวนในพื้นที่ได้



ส่วนประเด็นการตรวจสอบ การชี้มูล และส่งเรื่องให้อัยการส่งฟ้อง  นายมีชัย กล่าวว่า บทบัญญัติจะเป็นแบบกฎหมายเดิม คือ หาก ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง แต่อัยการไม่ส่งฟ้องต่อศาล เป็นสิทธิที่ป.ป.ช. ดำเนินการได้ เพราะต้องการคงเรื่องความเป็นอิสระ ส่วนประเด็นปัญหาที่อัยการ หรือ ป.ป.ช. ความเห็นไม่ตรงกัน กรธ. เพิ่มเนื้อหาให้มีความชัดเจน เช่น กรณีที่อัยการเห็นว่าสำนวนของป.ป.ช. นั้นขาดรายละเอียด และให้เพิ่มเติมประเด็นนั้น ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามความเห็นของอัยการ จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการสอบเพิ่มเติมไม่ได้ ส่วนกรณีการชี้มูลความผิดของเจ้าหน้าที่นั้น กำหนดด้วยว่า ป.ป.ช.ต้องทำรายละเอียดให้รอบคอบและเป็นที่ยุติ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซูเอี๋ยกันระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ที่ต้องถูกลงโทษ. 

ข่าวทั้งหมด

X