แนวโน้มการใช้ก๊าซ LNG ในประเทศไทย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานพยากรณ์ภายใต้แผนพัฒนาไฟฟ้าว่าจะมีการใช้ก๊าซมากขึ้น และจะต้องนำ LNG เข้ามา เพื่อให้เติบโต และชดเชยกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยที่ลดลง ซึ่งขณะนี้ผลิตมากว่า 30 ปีแล้ว อยู่ในขั้นพ้นช่วงจุดสูงสุด หลังจากนี้จะลดลง ทำให้การผลิตและการลงทุนชะลอตัว โดยปตท. ทำสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว ภายใต้เงื่อนไขที่ดีสุด และไม่ให้เกินต่อความต้องการ เพื่อไม่ให้เป็นภาระ และมีการลงทุนขยายคลังเก็บที่มาบตาพุด จาก 5 ล้านตัน เป็น 11.5 ล้านตัน ส่วนคลังที่สองอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7.5 ล้านตัน คาดว่าจะรองรับความต้องการระยะยาวได้ รองรับทั้งก๊าซและน้ำมัน และแม้ว่าจะมีความขัดแย้งในประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง ทั้งพื้นที่ซาอุดิอาระเบีย การ์ต้า สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ หรือ UAE ที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซ LNG แต่คาดว่าจะไม่กระทบต่อราคาและการจัดส่งมาประเทศไทยแน่นอน อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จะเป็นหน่วยงานของรัฐในการทดสอบก๊าซ LNG ซึ่ง ปตท. สนับสนุนให้มีการเปิดการค้าเสรีก๊าซ LNG เพื่อเพิ่มขัดความสามารถในการแข่งขันและประชาชนได้รับประโยชน์ โดยนายเทวินทร์ ยอมรับว่า ไม่กลัวการแข่งขันก๊าซ LPG/LNG แต่กลัวในระยะยาวที่อาจจะมีการนำไฟฟ้ามาใช้ในรถยนต์มากกว่า ซึ่งประเด็นนี้จะต้องเตรียมแผนรองรับต่อไป
ส่วนราคาน้ำมันเริ่มมีความเสถียรภาพ ความผันผวนน้อยลง บวก- ลบ ไม่เกิน 50 เหรียญสหรัฐฯ เพราะความต้องการซื้อ ขาย เริ่มเท่ากัน ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีบทบาทในการชี้นำราคาได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้น
สำหรับประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ จะส่งผลกระทบกับการนำเข้าน้ำมันหรือไม่นั้น นายเทวินทร์ ระบุว่า กระทรวงพลังงานจัดทำแผนซ้อมรับมือวิกฤตอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะบานปลาย รุนแรงหรือไม่ เพราะประเทศไทยนำเข้าน้ำมัน พลังงานถึงร้อยละ 80 ขณะนี้จึงทำได้เพียงบริหารความเสี่ยง โดยการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ผลิตพลังงานรายอื่นๆ ทั้งรัสเซีย และอิหร่าน