กรมการขนส่งทางบก-ขส.ทบ. กวาดล้างขบวนการยื่นเอกสารเท็จรถประมูลขายทอดตลาด

30 มิถุนายน 2560, 14:08น.


การดำเนินการกับกลุ่มมิจฉาชีพที่แอบอ้างยื่นเอกสารเท็จรถประมูลขายทอดตลาด โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ. ) นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยว่า สำหรับขบวนการยื่นเอกสารส่งบัญชีรถแจ้งการประมูลขายทอดตลาดของกรมการขนส่งทหารบก  หลังพบความผิดปกติ จึงได้มีการตรวจสอบ และเมื่อกรมการขนส่งทหารบก ได้ตรวจสอบแล้ว พบมีการยื่นเอกสารเท็จ จำนวน 9 ฉบับ เป็นรถจำนวนทั้งสิ้น 1,136 คัน  เนื่องจากระยะเวลาการยื่นเอกสารทางกรมการขนส่งทหารบก ไม่มีการประมูลรถขายทอดตลาด ซึ่งเป็นการจัดทำเอกสารปลอม โดยกลุ่มคนที่ทำเป็นขั้นตอน ทั้งนี้ตามระบบราชการเมื่อรับเอกสารส่งบัญชีรถแจ้งการประมูลขายทอดตลาดหน่วยงานราชการ กรมการขนส่งทางบกจะส่งหนังสือราชการถามกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียด และเมื่อได้รับหนังสือตอบกลับ จึงเข้าสู่ขั้นตอนดำเนินการทางทะเบียนต่อไป โดยในขบวนการนี้ส่งผลให้มีรถที่จดทะเบียนยื่นเอกสารบัญชีเท็จจำนวน 605 คัน กระจายไปจังหวัดต่างๆ โดยจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) 289 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย.2) 22 คัน  รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3) 265 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคลขนาดใหญ่ 19 คัน รถโดยสารประจำทาง 2 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 7 คัน และรถโดยสารส่วนบุคคล 1 คัน ซึ่งพื้นที่ที่มีการแจ้งจดทะเบียนรถเอกสารปลอมมากที่สุด คือจังหวัดตาก ชลบุรี อ่างทอง กรุงเทพมหานคร นครปฐม และส่วนที่เหลือได้กระจายออกไปอีก 15 จังหวัด



อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า  ขณะนี้กรมการขนส่งทหารบก ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ลงนามในเอกสารเท็จและผู้เกี่ยวข้องแล้ว ที่สน.เตาปูน ส่วนกรมการขนส่งทางบก ได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สน.บางซื่อ รวมถึงสั่งอายัดดำเนินการทางทะเบียนรถในกลุ่มดังกล่าวทั้งหมด จากนั้นได้ทำหนังสือขอตรวจสอบข้อมูลของรถกับกองทัพบกและกรมศุลกากร เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงแน่ใจได้ว่าเป็นรถที่ได้มาโดยไม่ชอบ จึงได้ออกคำสั่งให้นายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ทั้ง 605 คัน นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการลงโทษขั้นสูงสุดให้ออกจากราชการทันที และหากเกี่ยวข้องกับคดีอาญาและคดีแพ่งจะได้รับโทษนั้นๆ ด้วย เบื้องต้นพบว่ากลุ่มกระบวนการที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้มีประมาณ 10 คน ไม่ยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกเกี่ยวข้องหรือไม่



ขณะที่ พล.ต.สมศักดิ์ ทรัพย์อนันต์ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก กล่าวว่า โดยปกติรถที่ปลดประจำการ จะมีการนำออกจำหน่ายโดยตัดออกจากบัญชีกลุ่ม และไปทำประโยชน์ในขั้นตอนทางทหาร มีทั้งการขาย แลกเปลี่ยน โดยจะมีการจัดหาผู้ประกอบการมารับรถเก่า โดยซึ่งจัดขายทอดตลาดปีละประมาณ 100 คัน หรือขึ้นอยู่กับสภาพรถที่จะรวบรวมได้ โดยเรื่องที่เกิดขึ้นเกิดตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยพบว่ามีนายทหารไปเกี่ยวข้อง 1คน ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ในการลงนาม แต่รู้ถึงขั้นตอนขบวนการการทำงาน ทั้งนี้อำนาจหน้าที่ ในเรื่องนี้จะเป็นของเจ้ากรมคนเดียวเท่านั้น และไม่เคยมอบหน้าที่ให้ใคร แต่นายทหารนายนี้ดำเนินการจัดทำเอกสารและลงนาม ส่งบัญชีรถในเอกสารที่เป็นการขายทอดตลาด และส่งให้กรมการขนส่งทางบก เพื่อนำมาประกอบเพื่อทำจัดเล่ม โดยตรวจพบพิรุธตั้งแต่ปลายปี 59 จำนวน 1,136 คัน โดยขณะนี้ได้มีการลงโทษทางวินัย ปลดนายทหารผู้กระทำความผิดออกจากราชการแล้ว เนื่องจากถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม  



 

ข่าวทั้งหมด

X