มาตรการและแนวทางป้องกันอันตรายที่เกิดกับประชาชนจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม พร้อมกล่าวภายหลังการประชุมว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใด หรือสถานีใดก็ตามในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร มีวัสดุตกหล่นทับรถยนต์ บ้านเรือน ประชาชน จนได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความเสียหาย กรุงเทพมหานคร จะสั่งให้บริษัทผู้รับเหมาหยุดดำเนินการก่อสร้างทันที เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 วัน จนกว่าจะมีการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนระยะเวลาการสั่งระงับการก่อสร้างจะยาวนานที่สุดกี่วัน ไม่สามารถตอบได้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซึ่งอาจจะมีการสั่งระงับการก่อสร้างเลยก็ได้ ส่วนเรื่องของระยะเวลาสัญญาการก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมา หากถูกสั่งให้ระงับการก่อสร้างแล้ว จะต้องไปหารือกับคู่สัญญาเอง ไม่ว่าจะเป็นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) เนื่องจากกรุงเทพมหานคร ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องสัญญาการก่อสร้าง แต่กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของพื้นที่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อยู่บ่อยครั้ง จึงต้องมีการมาหารือเพื่อหามาตรการร่วมกัน โดยในที่ประชุม รฟม. และรฟท. ก็ได้มีการชี้แจงถึงสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดมาจากการประมาทของตัวบุคคล ร้อยละ 70 และความบกพร่องของวัสดุอุปกรณ์ที่เสื่อมคุณภาพ ร้อยละ 30 ซึ่งหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ได้รับปากว่าจะไปกำชับผู้ควบคุมงานให้ระมัดระวังวัสดุสิ่งของต่างๆ ที่จะหล่นลงมา รวมกรณีที่มีเศษวัสดุหรืออุปกรณ์การก่อสร้าง ตกลงไปอุดตันท่อระบายน้ำ หรือตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่การก่อสร้างที่รุกล้ำออกมานอกผิวการจราจร ได้สั่งการให้ดำเนินแก้ไขในส่วนนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม