โครงการธนาคารน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำกับเกษตรกร 4.0 ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในเมืองเชียงใหม่มีคลองแม่แตง ซึ่งในตอนบนมีเพียงฝาย แต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำเป็นของตัวเอง จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการระบบส่งน้ำใหม่เนื่องจากพื้นที่เก่าใช้งานมาอย่างยาวนาน ประกอบกับพื้นที่ที่เป็นการเกษตร ปัจจุบันหายไปกว่าร้อยละ 10 จึงมีการวางแผนในระยาวถึง 20 ปี ข้างหน้า โดยวางแผนกับเกษตรกรและผู้ใช้น้ำให้สามารถบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างภาคชุมชนและการเกษตร ทำข้อตกลงการจัดสรรปันส่วนส่งน้ำให้ภาคการเกษตรตามที่ได้มีการทำข้อตกลงไว้
ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องนำน้ำไปสนับสนุนในกรณีพิเศษ เช่นด้านวัฒนธรรม ในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ดังนั้น จึงมีการนำน้ำที่ไหลมาตามฤดูกาลไปฝากเก็บไว้ในแหล่งน้ำที่มีอยู่ก่อน เพื่อนำมาใช้ภายหลัง เช่นอ่างเก็บน้ำห้วยหยวก อ่างเก็บน้ำ ในศูนย์ประชุมนานาชาติ อ่างเก็บน้ำ กองพลทหารราบที่ 7 และอ่างเก็บน้ำพลรบพิเศษที่ 5 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับคลองชลประทาน และได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทหารและภาคเอกชน โดยแหล่งเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร และในอนาคตจะเพิ่มอีก 10 แห่ง ขณะเดียวกัน บริเวณเหนือฝายเก็บน้ำแม่แตง จะทำเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ สามารถเก็บน้ำได้ถึง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงถือเป็นการยกเครื่องระบบชลประทานใหม่และเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำได้มากขึ้น รวมไปถึงใน 4-5 ปีข้างหน้า จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบคลองส่งน้ำชลประทาน การขยายคลองประมาน 2.5 เท่า ซึ่งจะสามารถใช้เป็นคลองส่งน้ำ และรองรับน้ำหลากที่จะไหลมาจากดอยสุเทพปุยเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ได้
นายสมเกียรติ กล่าวถึง โครงการประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง โดยใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี จึงสามารถขับเคลื่อนโครงการได้ เนื่องจากลุ่มน้ำแม่ปิงตอนล่างของเชียงใหม่ มีฝายของชาวบ้านที่สร้างขึ้นมานาน แต่เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปทำให้เมื่อมีน้ำไหลมาจึงมีปริมาณมากทำให้เกิดผลกระทบในช่วงของน้ำหลาก เนื่องจากกีดขวางทางน้ำ จึงได้มีการสร้างประตูระบายน้ำดังกล่าวเพื่อควบคุมน้ำโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง โดยมีการใช้ระบบทดน้ำทำให้ตัวเมืองเชียงใหม่มีน้ำเพียงพอในการใช้อุปโภคบริโภคได้ รวมถึงสามารถบริหารจัดการน้ำให้ส่งน้ำไปถึงตอนท้ายน้ำได้ ขณะที่เมื่อเข้าฤดูน้ำหลาก ประตูระบายน้ำดังกล่าว ก็สามารถควบคุมน้ำได้ในระดับที่ต้องการ โดยมีระบบควบคุมอัจฉริยะ และสามารถควบคุมจากทางไกลได้ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งตัววัดปริมาณน้ำฝน ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้คาดการณ์ว่าน้ำจะมาเมื่อใด และสามารถบริหารจัดการน้ำทั้งท่วมและแล้งได้
รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวว่า ลุ่มน้ำปิงเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญซึ่งแม้ว่าทางตอนบน จะเป็นพื้นที่ต้นน้ำก็ตามแต่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่ ซึ่งในลุ่มน้ำแม่ปิงมีแม่น้ำหลายสายที่จะไหลเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ โดยแม่น้ำ 2 สายที่มีเขื่อนเก็บน้ำอยู่แล้ว คือเขื่อนแม่งัด และเขื่อนแม่กวง ดังนั้นเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้บริหารงานวางโครงข่ายน้ำ จากลำน้ำแม่แตง ผ่านไปยังเขื่อนแม่งัด และเขื่อนแม่กวง ซึ่งจะทำให้ระบบน้ำมีความสมบูรณ์และมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวก่อสร้างมาแล้ว 1-2 ปีและภายในปี 2564-2565 บางส่วนจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคง ในระบบของน้ำที่ไม่ใช่เพียงแต่นำไปอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสามารถกระจายไปยังภาคอุตสาหกรรมและสร้างแรงงานในแถบภาคเหนือตอนบนได้
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี