หลังจากเกิดเหตุนักศึกษา และเจ้าหน้าที่บริษัทซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เสียชีวิตในบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานรวม 5 คน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2560 โดยในวันนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับนายกสมาคมวิศวกรสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวข้อเท็จจริง
โดยนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระบุว่า ขณะนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกคำสั่งมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ 2535 เพื่อเตรียมสั่งการให้โรงงานหยุดประกอบกิจการในส่วนของบ่อบำบัดน้ำเสียเป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อปรับปรุงระบบความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และเมื่อมีได้มีการปรับปรุงแล้ว จะมีหนังสือแจ้งมาทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ลงไปตรวจสอบอีกครั้ง ทั้งนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบโรงงาน พบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากนักศึกษาสัตวแพทย์ที่มาดูงานตกลงไปในบ่ออับอากาศ แล้วมีการลงไปช่วยเหลือโดยไม่มีความรู้ รวมทั้งเกิดอาการตกใจจึงกระโดดลงไปแล้วขาดอากาศหายใจ เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้มีนักศึกษาสัตวแพทย์ผู้ดูงานเสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม 1 ราย และคนงานโรงงาน 3 ราย ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียที่แยกไขมันออกแล้วก่อนส่งเข้าสู่ระบบบำบัดแบบตะกอนเร่ง มีขนาด 3x4 เมตร ลึก 2.5 เมตร เป็นบ่ออับอากาศมีปริมาณน้ำเสียจากกระบวนการผลิต 5,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน อย่างไรก็ตามส่วนของฝาบ่อบำบัดน้ำเสียที่ตามมาตรฐานแล้วจะต้องมีการปิดฝาบ่อล็อคกุญแจหนาแน่น แต่ในที่เกิดเหตุพบว่าฝาบ่อเปิดถูกเปิดอยู่ และฝาบ่อตกลงไปภายในบ่อ โดยยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า ถูกเปิดอยู่แล้วหรือเปิดเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไป
ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยของบ่อบำบัดน้ำเสียที่อับอากาศนั้นมีความอันตรายถึงชีวิต โดยกฎเหล็ก คือห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องและขาดความรู้ เข้าไปในพื้นที่เด็ดขาด รวมถึงต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือให้กรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินขึ้น บริเวณโดยรอบบ่อบำบัดน้ำเสียจะต้องเป็นที่โล่ง เพื่อสะดวกต่อการให้ความช่วยเหลือ ส่วนในบ่อบำบัดน้ำเสียจะต้องมีปริมาณก๊าซไข่เน่าสูงสุดที่อนุญาตคือ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร มีปริมาณออกซิเจน อยู่ที่ร้อยละ 19.5-23.5 โดยจากการตรวจสอบบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อนี้มีค่าก๊าซออกซิเจนอยู่ประมาณ ร้อยละ 20.1 อย่างไรก็ตามค่าก๊าซออกซิเจนนี้ ได้ตรวจสอบภายหลัง เกิดเหตุ 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปได้ว่าค่าของก๊าซจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ส่วนมาตรฐานด้านอื่นๆ นั้น พบว่าบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียนี้ ได้มีการติดป้ายพื้นที่ควบคุมชัดเจน แต่จากการสังเกตุ บริเวณโดยรอบของบ่อ มีสิ่งกีดขวางทำให้การเข้าช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือจะต้องเป็นผู้มีความรู้ มีอุปกรณ์ที่เพียงพอ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ที่นำนักศึกษาเข้าไปต้องได้รับการฝึกอบรมมาตรฐานความปลอดภัย แต่ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมได้มาปฏิบัติงานเพียง 6 เดือนเท่านั้น อาจจะยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้
...
ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม