เดินหน้าเวทีประชาพิจารณ์ กม.หลักประกันสุขภาพ ยืนยันไม่กระทบผู้มีรายได้น้อย คนพิการและบัญชียาพิเศษ

18 มิถุนายน 2560, 13:41น.


เวทีประชาพิจารณ์การแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภูมิภาค ภาคกลาง ที่โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. มีความวุ่นวายเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. กับกลุ่มผู้สนับสนุน ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ต้องเข้ามาดูแลรักษาความสงบพร้อมขอความร่วมมือไม่ใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมตรวจค้นบุคคลที่มาร่วมแสดงความเห็นเพื่อดูแลความปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้ สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติและเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็นรอบบ่ายของวันนี้แล้ว

จากนั้นนายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช., นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุข และนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว ซึ่งนายวรากรณ์ เห็นว่า การจัดเวทีประชาพิจารณ์ไม่ได้ล้มเหลว และไม่กังวลว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะมีเพียงคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย จึงจะไม่มีการเริ่มต้นทำประชาพิจารณ์ใหม่ เพราะในช่วง 3 เดือนมานี้ ได้ทำประชาพิจารณ์อย่างเปิดเผยชัดเจนและรอบคอบ หากเริ่มต้นใหม่จะทำให้เสียเวลา อีกทั้งยังมีการรวบรวมความเห็นครบถ้วนทั้ง 4 ช่องทาง ขณะเดียวกันมองว่าการที่ภาคประชาชนแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยถือเป็นเรื่องปกติในการแก้ไขกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์มากขึ้นไม่ได้มีการแก้ไขในสาระสำคัญที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ส่วนประเด็นการร่วมจ่ายก็เป็นเนื้อหาเดิม ซึ่งไม่กระทบกับคนมีรายได้น้อย แต่ผู้ที่มีรายได้มากควรที่จะร่วมจ่ายบ้างในระบบประกันสุขภาพบางระบบ เพราะหากไม่มีการร่วมจ่าย ผู้ที่เสียประโยชน์คือผู้ยากไร้ และจะเกิดความไม่เป็นธรรม แต่ยืนยันว่าสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลทั้งในส่วนของผู้พิการและบัญชียาพิเศษยังคงเหมือนเดิม



ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์จะรวบรวมความเห็นทั้งหมด ส่งไปยังประธานร่างพระราชบัญญัติประกันสุขภาพแห่งชาติในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ แล้วจัดทำเป็นรายงานเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบว่าได้นำความเห็นไปดำเนินการอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามกระบวนการรับฟังในการทำประชาพิจารณ์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการจัดทำกฎหมาย ซึ่งตามขั้นตอน จะต้องส่งไปให้คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหากไม่เห็นด้วยก็ยังมีเวลาที่จะเสนอความเห็นคัดค้านต่อไป

ด้าน นพ.พลเดช กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งต่อไป จะต้องมีการประเมินสถานการณ์ และมีความกังวลว่า จะมีการกระทำในลักษณะยั่วยุ แต่ยืนยันว่าการรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องที่จำเป็น และต้องดำเนินการต่อ ซึ่งจากเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ในเวทีประชาพิจารณ์ ที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้ประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเสียสิทธิ์

ขณะที่ตัวแทนประชาชนจากแต่ละภาคที่ร่วมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. มีการอ่านแถลงการณ์และกำหนดจุดยืนต่อการออกมาร่วมคัดค้าน โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ขณะที่สัดส่วนคณะทำงานแก้ไขกฎหมาย ที่ตั้งขึ้นมามีสัดส่วนของคณะทำงาน 26 คน แต่มีตัวแทนของภาคประชาชนเพียง 2 คน จึงกังวลว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุขมากกว่าประโยชน์ของประชาชน ซึ่งหลังจากที่อ่านแถลงการณ์แล้ว กลุ่มผู้คัดค้านก็สลายการชุมนุม ไม่ได้เข้าร่วมการประชาพิจารณ์ในช่วงบ่าย



.....



ผสข. ปิยะธิดา เพชรดี 

ข่าวทั้งหมด

X