การขับเคลื่อนการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการภายใต้การประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ ในวันนี้ มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และมูลนิธิรากแก้ว โดยมีนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , หม่อมราชวงค์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและการพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ และนายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมลงนาม
รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการสืบสานงานโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริแบบบูรณาการ ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการดำเนินงาน โดยให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาแหล่งน้ำ และช่วยกันคิดว่าจะนำน้ำไปใช้ประโยชน์ด้านใด จะมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์สนับสนุนความรู้ และร่วมปฏิบัติงานตามหลักวิศวกรรมชลประทานที่สอดคล้องกับภูมิสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยทุกหน่วยงานจะกำหนดบทบาทหน้าที่ของตัวเองและจัดทำแผนปฎิบัติงานบูรณาการร่วมกัน โดยจะร่วมกันคัดเลือกโครงการเพื่อจะดำเนินการ จากรายชื่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการแล้ว และยังใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งแหล่งน้ำอื่นๆ ที่ราษฎรพร้อมสละแรงงานในการซ่อมแซม และเสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำต่อไป
รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การทำงานของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากลงนาม MOU จะแตกต่างไปจากเดิม จากในอดีต กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเน้นสร้างแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้จะเป็นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กและให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแล ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับหน่วยงานที่มาลงนามในวันนี้เคยทำงานร่วมกันมาก่อน แต่การลงนาม MOU ก็เพื่อให้การทำงานมีกรอบ มีแบบแผนที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา ประมาณ 200 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์กว่า 2 หมื่นไร่ คาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นได้ภายใน 2-3 ปี
ในส่วนของการจัดหาแหล่งน้ำในปัจจุบัน จะต้องเน้น 3 ส่วน คือวิธีการได้มาซึ่งที่ดิน ในการจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำ, วิธีการก่อสร้าง และการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งสิ่งสำคัญคือจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ว่าจะช่วยกันดูแลและจะปลูกพืช ทำประมงชนิดใด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะเข้ามาทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
สำหรับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ ดร. สมเกียรติ ระบุว่า ยังคงปกติดี แต่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการเฝ้าระวัง และติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาตลอด แต่จะมีบางพื้นที่ที่อาจจะมีน้ำท่วมขังบ้าง ตามลักษณะพื้นที่ลุ่ม หากพบว่าเกิดน้ำท่วม ประชาชนสามารถโทรแจ้งได้ที่ 1460 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าไปช่วยเหลือทันที
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข