กรมชลประทานเตรียมเสนอรายงาน EHIA พัฒนาอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด จ.จันทบุรีแก้น้ำท่วม-ส่งน้ำสำรอง

06 มิถุนายน 2560, 17:43น.


การเตรียมความพร้อมโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในจังหวัดจันทบุรี โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับโครง การอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ก่อนการก่อสร้าง ได้มีการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เกษตร และศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่อาจมีต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) ควบคู่กับการดำเนินงานมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด ให้มีศักยภาพกักเก็บน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตอนบน ตอนกลาง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ตอนล่าง ซึ่งจากปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด  โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี กรมชลประทาน ได้ศึกษาแนวทางเพื่อแก้ไข โดยวางแผนศึกษาโครงการและความเหมาะสม มีแผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความจุ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว มีความจุ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ มีความจุ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งสองอ่าง อยู่ในระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดอยู่ระหว่างการศึกษา มีความจุ 99.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากได้รับการพัฒนาจะเป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนรวม ประมาณ 308 ล้านลูกบาศก์เมตร





โดยผลการศึกษาแนวทางเลือกการพัฒนาแหล่งน้ำในรายงาน EHIA พบว่าทางที่เหมาะที่สุดคือการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด   แต่การพัฒนาอาจเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพนิเวศป่าไม้ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีราษฎรครอบครองอาศัยทำกินอยู่ 317 ครัวเรือน ส่วนผลกระทบด้านบวก จะสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมโดยเฉพาะสวนผลไม้ประมาณ 88,000 ไร่ แก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง รวมทั้งเป็นน้ำสำรองเพื่อใช้อุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในอนาคต





นอกจากนี้จะเป็นแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าบางประเภท อย่างไรก็ตามกรมชลประทานได้กำหนดมาตรการและแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยรายงานผลศึกษาฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งจะต้องเสนอต่อหน่วยงานพิจารณารายงานสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยผ่านความเห็นชอบจากองค์กรอิสระก่อนเสนอขออนุมัติเปิดโครงการจากคณะรัฐมนตรี และขอใช้พื้นที่หน่วยงานอนุญาตต่อไป

ข่าวทั้งหมด

X